สำนักข่าวไทย นำเสนอสารคดี
เวลาดูสารคดีชีวิตสัตว์ขั้วโลก เราก็จะเห็นก้อนน้ำแข็งลอยล่องอยู่ในน้ำทะเล บ้างก็มีหมีแม่ลูก นกเพนกวิ้นตัวเล็กตัวน้อยเกาะลอยไปกับมันตุ๊บป่อง… ตุ๊บป่อง… เคยนึกสงสัยไหมครับว่า ไอ้เจ้าน้ำแข็งขั้วโลกเนี่ย… มันจืด รึว่ามันเค็ม?
ที่มันน่าสงสัยก็เพราะ เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าน้ำทะเลทั่วโลกมีรสเค็ม(อันเนื่องมาจากแร่ธาตุต่างๆที่ละลายอยู่ในน้ำ) ทีนี้ไอ้เจ้าน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในน้ำทะเล… มันจะเค็มมั๊ย…?
ก่อนจะตอบได้ว่าน้ำแข็งขั้วโลกนั้นเค็มหรือจืด ก็ต้องเล่าที่มาของก้อนน้ำแข็งทั้งหลายที่ลอยตุ๊บป่องอยู่ก่อน ซึ่งเจ้าก้อนน้ำแข็งพวกนี้มีต้นกำเนิดสองประเภทด้วยกันครับ ได้แก่…
ก้อนน้ำแข็งที่แตกหลุดออกมาจากธารน้ำแข็งบนแผ่นดิน น้ำแข็งพวกนี้คือหิมมะที่ตกทับถมบนแผ่นดินนั่นเองครับ เมื่อทับถมนานเข้าหิมมะก็อัดเข้าด้วยกันด้วยน้ำหนักของมันเองจนกลายเป็นชั้นน้ำแข็งอัด(แบบเดียวกับเวลาเราอัดน้ำแข็งไสในถ้วย แต่แน่นกว่ามาก) และค่อยๆเคลื่อนไหลลงที่ต่ำ ออกสู่ทะเลกลายเป็นภูเขาน้ำแข็งในที่สุด ดังนั้นก้อนน้ำแข็งเหล่านี้จึงไม่ได้เกิดจากน้ำทะเล และมีรสจืดเพราะไม่มีเกลือปนอยู่นั่นเอง
อีกประเภทก็คือ แพน้ำแข็งที่เกิดจากผิวหน้าของน้ำทะเลที่จับตัวแข็งเพราะความหนาวเย็น ฟังดูแล้วน้ำแข็งเหล่านี้น่าจะเค็มใช่ไหมครับ… แต่จริงๆแล้ว ไม่เลยครับ น้ำแข็งเหล่านี้กลับเป็นก้อน น้ำแข็งจืดๆอีกนั่นแหละ …เพราะแบบนี้ครับ… เมื่อน้ำเริ่มจับตัวแข็ง มันจะเปลี่ยนจากของเหลวเป็นโครงสร้างผลึกอย่างช้าๆ การก่อร่างของผลึกน้ำแข็งจะรีดเอาเกลือที่ละลายปนอยู่ออกไป เรียก
กระบวนการนี้ว่า Brine rejection เพราะผลึกของน้ำจะหนาแน่นจนไม่มีที่ให้เกลือแทรกอยู่ได้ ชั้นบางๆของน้ำแข็งที่เริ่มก่อตัวขึ้น จึงเป็นน้ำเปล่าๆที่ไม่มีเกลือปน (หรือจะมีที่ ติดคาอยู่บ้างก็น้อย) พอสะสมเป็นชั้นแพหนาเข้า น้ำแข็งเหล่านี้ก็เลยจืดเช่นนี้แหละครับ ทั้งนี้เกลือที่ถูดรีดออกจากผลึกน้ำแข็ง จะทำให้น้ำทะเลใต้แพน้ำแข็งมีความเข้มข้นสูง ด้วยความเข้มข้นสูงนี้เองทำให้มันหนักและจมลงสู่พื้นสมุทร จากนั้นก็ไหลไปหาน้ำทะเลที่เข้มข้นน้อยกว่าแถบศูนย์สูตร เกิดเป็นกระแสน้ำในมหาสมุทรที่เรียกว่า Thermohaline circulation (thermo – อุณหภูมิ haline – ความเค็ม รวมหมายถึงการไหลเวียนของน้ำเนื่องจากอุณหภูมิและความเค็ม)ขึ้นอีกด้วยครับ
ก้อนน้ำแข็งจืดจากน้ำทะเลเค็มๆนี้สามารถทดลองทำได้เองที่บ้านครับ ลองนำน้ำละลายเกลือใส่ในขัน(จะได้ปากกว้างหน่อย) จากนั้นนำไปแช่ช่องแข็งในตู้เย็น รอจนกระทั่งน้ำเริ่มแข็งเป็นบาง ส่วน ทีนี้ลองใช้นิ้วแตะผิวน้ำแข็งให้พอละลายแล้วชิมดูครับ(ขอร้องว่าอย่าเอาลิ้นแตะชิมลงไปตรงๆนะครับ ลิ้นติดแล้วเดี๋ยวเรื่องยาว) จะพบว่าน้ำที่ละลายจากผิวหน้าน้ำแข็งนั้น ไม่เค็มแบบน้ำที่ ละลายอยู่ในขันด้านล่างครับ
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท.
http://www.mcot.net/site/content?id=536a1e29be04709b248b4570#.U2rg91f9Hcs– ( 95 Views)