magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เด็กและเยาวชน อาคารนวัตกรรมเพื่ออนาคต
formats

อาคารนวัตกรรมเพื่ออนาคต

อาคารกลุ่มนวัตกรรม2 หรือ INC2

อาคารที่ออกแบบตอบ โจทย์งานวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ของไทย ใหญ่และครบวงจรที่สุดในไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท

จากบริษัทเล็ก ๆ ‘โพลีพลาสติก’ เดินหน้าวิจัยนวัตกรรมร่วมกับ MTEC จนเติบโต และขยายสร้างศูนย์เทคนิคัลโซลูชั่นในอาคารกลุ่มนวัตกรรม2 นิคมวิจัยไฮเทคของสวทช. ที่ตอบโจทย์ ตรงใจเอกชนที่สนใจนวัตกรรม

โพลี พลาสติก (PolyPlastic) บริษัทจากญี่ปุ่นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกทางวิศวกรรมสำหรับขึ้นรูปอุปกรณ์ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ตั้งอยู่บนชั้น 8 ของอาคาร D อาคารกลุ่มนวัตกรรม2 อุทยานวิทยาศาสตร์ หลังจากเช่าพื้นที่อยู่ในศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือ เอ็มเทค (MTEC) ซึ่งมีความร่วมมือในโครงการวิจัยต่างๆ ตั้งแต่ปี 2551เติมความต้องการภาคเอกชน

ความสำเร็จของโพลี พลาสติก เริ่มจากการต่อยอดให้ผู้เชี่ยวชาญของเอ็มเทคพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์การแตกหักของวัสดุ ช่วยให้เม็ดพลาสติกของโพลีพลาสติกมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าคู่แข่ง จากนั้น สององค์กรจึงจับมือกันวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ ติดปีกธุรกิจให้โพลีพลาสติกเดินไปได้ไกลขึ้น

ความต้องการขยายในเชิงวิจัยยังมีอยู่แต่ติดที่พื้นที่ไม่อำนวย เมื่ออาคารกลุ่มนวัตกรรม2 หรือ INC2 ของอุทยานวิทยาศาสตร์แล้วเสร็จ จึงเป็นโอกาสให้โพลีพลาสติกย้ายสถานที่และลงทุนเพิ่มกว่า 50 ล้านบาท เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบทางเคมี การวิจัยเชิงกล และโชว์รูมเพื่อตอบความต้องการของลูกค้าในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงอินเดีย

อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 เริ่มก่อสร้างปี 2551 และแล้วเสร็จในปี 2556 เป็นการขยายโครงการระยะที่ 2 ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

Work-Life Integration

อุษารัตน์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมคลัสเตอร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายว่า อาคารนี้ถือเป็นอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนารูปแบบใหม่ที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในไทย ประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 4 หลังเชื่อมต่อกัน โดยมีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้นประมาณ 72,000 ตารางเมตร ด้วยเงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท

อาคารกลุ่มนวัตกรรม2 ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์งานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ของไทย โดยด้านล่างของอาคาร A มีโครงสร้างตึกที่รองรับเครื่องจักขนาดใหญ่ (Heavy Equipment Area) รับน้ำหนักได้มากถึง 2 พันตันต่อตารางเมตร รองรับงานวิจัยด้านเครื่องจักรและโลหะต่างๆ

บริเวณอาคาร D สร้างห้องวิจัยที่ต้องการความปลอดภัยสูง (Sensitive Lab) โดยออกแบบให้มีความปลอดภัยและป้องกันผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนรวมทั้งเหมาะกับงานวิจัยที่มีความซับซ้อนและงานวิจัยขั้นสูง อาทิ งานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น

พื้นที่กว่า 60% ของอาคารจะเปิดให้ภาคเอกชนมาใช้บริการโดยออกแบบให้พื้นที่เป็นโมดูลที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้เช่า

ในขณะเดียวกัน ตัวอาคารถูกออกแบบภายใต้แนวความคิด “Work-Life Integration” ที่ส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน โดยอาคารทั้ง 4 ได้ออกแบบให้มีทางเดินเชื่อมถึงกันทุกชั้น ห้อมล้อมด้วยต้นไม้และพื้นที่ตกแต่งสวนเพื่อนำเอาธรรมชาติเข้ามาอยู่ร่วมกับการใช้ชีวิต และเป็นบรรยากาศที่ก่อเกิดให้เกิดชุมชนที่แลกเปลี่ยนแนวความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน

สร้างนวัตกรรมพัฒนาไทย

ความสำเร็จจากอุทยานวิทยาศาสตร์ในระยะที่ 1 ซึ่งมีพื้นที่สำหรับภาคเอกชนเพียง 10% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่มีบริษัทเอกชนกว่า 60 บริษัท สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ กว่า 500 ผลงาน ขณะที่อาคารกลุ่มนวัตกรรม2 มีเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่แล้ว 7 ราย จากเป้าหมาย 150-200 รายภายใน 5 ปี

แม้จะพยายามผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่และสร้างนวัตกรรม แต่ต้องอยู่ภายใต้การประเมินของคณะกรรมการว่า บริษัทไหนจะเข้ามาใช้พื้นที่ของอาคารได้ โดยจะต้องพิจารณา 3 ส่วนคือ กิจกรรมอะไร เช่น ตั้งโรงงาน ก็ไม่ได้เพราะไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย หรือหากจะตั้งเป็นสำนักงานขายอย่างเดียวก็ไม่สมควรเพราะพื้นที่มีราคาสูงกว่าจะแค่ขาย

ที่สำคัญ จุดประสงค์ของอุทยานวิทยาศาสตร์คือ สร้างนวัตกรรม ดังนั้น ภาคเอกชนก็ต้องมีกิจกรรมที่ต้องเอื้อต่อการวิจัยและสร้างนวัตกรรม

ต่อมาดูความปลอดภัยทั้งต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม การปลดปล่อยอะไรมีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตโดยรอบอะไร มีระบบกำจัดของเสีย รวมถึง ดูระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมากที่สุดที่รับได้คือ ระดับ 2 เพราะหากเป็นระดับ 3 เช่น ไข้หวัดนก หรืออื่น ๆ ที่จะมีผลต่อผู้ใช้พื้นที่อื่น ๆ และสังคมก็จะไม่ให้ใช้

ปัจจัยสุดท้ายคือ การเงิน เพราะมีประสบการณ์กับบริษัทที่มีปัญหาการเงิน เพราะแม้เราไม่ได้ต้องการทำธุรกิจหวังกำไร แต่ไม่ต้องการทำแล้วสร้างภาระให้สำนักงาน แม้จะเป็นบริษัทใหม่เงินน้อย แต่มีไอเดีย เทคโนโลยี ที่จะสร้างนวัตกรรม เราสามารถช่วยหาแหล่งทุนได้ แต่เราก็ต้องดูว่า เขาจะมีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าหรือไม่

เขย่าเศรษฐกิจลูกโซ่

อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และพร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึง

“ประโยชน์ที่จะเห็นชัดคือ บริษัทเอกชนที่จะเพิ่มเข้ามาอย่างน้อย 150 บริษัท ทำให้มีคนของภาคเอกชน 2000-2500 คน พอๆ กับคนของสวทช. เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด อาจนำไปสู่ไอเดีย ความร่วมมือวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ” อุษารัตน์กล่าว

เธอเสริมว่า ในแง่ของเศรษฐกิจ จากอุทยานวิทยาศาสตร์ระยะแรกที่มีเอกชน 60 บริษัท มีงานวิจัย 500 ชิ้น และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง 300 ชิ้น ถ้าเพิ่มบริษัทเอกชนได้อย่างน้อย 150 บริษัท จะสร้างงานวิจัย 1500 และนำไปใช้ประโยชน์จริงอย่างน้อย 1000 สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อไปเป็นลูกโซ่

เป็นอีก 1 ความหวัง ที่อาคารกลุ่มนวัตกรรม2 จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม และทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานให้ใกล้ชิดขึ้นระหว่างบริษัทเอกชนกับศูนย์วิจัยชั้นนำของภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการสร้างขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศในระยะยาว

รายการอ้างอิง :

สาลินีย์ ทับพิลา. (2557. อาคารนวัตกรรมเพื่ออนาคต. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). ค้นเมื่อวันที่ 8 พฤาภาคม 2557. จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/innovation/20140501/579147/อาคารนวัตกรรมเพื่ออนาคต.html.– ( 210 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


two − = 1

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>