ปัจจุบันเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ทำเครื่องประดับไปจนถึงอาวุธ ส่วนในอาร์เจนตินา เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้พิมพ์มือเทียมให้เด็กชายคนหนึ่ง
เฟลิเป มิแรนดา เด็กชายวัย 11 ปี พิการมือซ้ายตั้งแต่กำเนิด หากใส่มือเทียมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่โชคดีที่ กอนซาโล ซานเชส สมาชิกของกลุ่มนักออกแบบในกรุงบัวโนสไอเรส ซึ่งสามารถสร้างสิ่งของจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้ออกแบบพิมพ์มือเทียมให้กับ เฟลิเป ในราคาเพียง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
ต้นแบบมือเทียมชิ้นแรกพิมพ์ที่ร้าน Lab&Fab Cafe ของซานเชส ซึ่งจะต้องดูภาพตัวอย่างหลายๆ ภาพในอินเทอร์เน็ต เพื่อทดลองพิมพ์แบบต่างๆ แล้วปรับปรุงจนได้ชิ้นที่ใช้ได้จริง โดยวัสดุที่ใช้ในการพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกและโลหะ และข้อดีของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คือ สามารถปรับเปลี่ยนแบบได้ทันที
มือเทียมชิ้นนี้มีขนาดพอดีกับข้อมือของเฟลิเป โดยจะมีสายเคเบิลควบคุมการกำและแบมือ ทำให้สามารถควบคุมการกำมือและแบมือได้ง่ายด้วยการขยับข้อมือไปมา แม้ว่าเครื่องนี้จะไม่สามารถแยกการควบคุมระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วอื่นๆ ได้ แต่เฟลิเป สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้เหมือนเด็กทั่วไป เช่น การขี่จักรยาน และเล่นฟุตบอลในตำแหน่งผู้รักษาประตู
ที่มา : อาร์เจนตินา-มือเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ. (2557). ครอบครัวข่าวสามออนไลน์. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557, จาก http://www.krobkruakao.com/ข่าวต่างประเทศ/93446/อาร์เจนตินา-มือเทียมจากเครื่องพิมพ์สามมิติ.html– ( 35 Views)