เหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออย่างรุนแรงชี้ให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาและความท้าทายของคนทั้งโลก เครือข่ายความร่วมมือการวิจัยระดับนานาชาติเพื่อความพร้อมในการป้องกันโรคติดเชื้อ จึงกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมหน่วยงานของ (กลุ่ม) ประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สหภาพยุโรปหรืออียู สหรัฐอเมริกา เยอรมนี แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส สวีเดน และบราซิล ที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้านการระบาดของโรคติดเชื้อ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือภายใน 48 ชั่วโมงภายหลังเกิดการระบาด นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีประสานความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องของแต่ละภูมิภาค เพื่อการวิจัยเร่งด่วนอย่างทันท่วงทีต่อการแพร่ระบาดของโรค
สหภาพยุโรปหรืออียูใช้กรอบความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม Horizon 2020 เป็นกลไกสนับสนุนเพื่อให้อียูสามารถมีส่วนร่วมกับเครือข่าย GloPID-R นี้ได้ เช่นเดียวกับที่อียูใช้ Horizon 2020 เป็นกลไกให้ทุนโครงการแผนงานต่าง ๆ นั่นหมายความว่า แม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกเครือข่าย GloPID-R แต่นักวิจัยไทยก็ยังสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการหัวข้อต่าง ๆ ภายใต้กลไก Horizon 2020 ที่มีความเกี่ยวข้องกับ GloPID-R ได้ เช่น
1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโรคในอาหาร ด้วยการบ่งชี้เชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว
2. การทำงานสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างความพร้อมต่อการระบาดของโรคติดเชื้อ
3. การพัฒนาวัคซีนโรคติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและโรคที่ไม่ได้รับการรักษาหรือโรคที่ถูกละเลย เช่น วัณโรค
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th/nstda-doc-archives/doc_details/1213—-22557
– ( 22 Views)