magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การศึกษา หายนะภาษาไทย? ผู้ปกครองเพลีย โรงเรียนสอนอะไรให้ลูก!!
formats

หายนะภาษาไทย? ผู้ปกครองเพลีย โรงเรียนสอนอะไรให้ลูก!!

ตะลึง!! เมื่อผู้ปกครองเปิดบทเรียน “การอ่านภาษาไทย” ของเด็กชั้นประถมขึ้นมาแล้วต้องถึงกับอึ้ง! เพราะอ่านไม่ออก!! มานั่งเพ่งพินิจดูยิ่งงงหนักว่า ภาษาไทยที่เคยเข้าใจหายไปไหน… แปด อ่านว่า “ปอ-แอ-ดอ”, โต อ่านว่า “ตอ-โอ”, จำ อ่านว่า “จอ-อำ” การผสมคำแบบเดิมๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว

เพราะที่อยู่บนหน้ากระดาษกลับสอนรูปแบบพิสดารให้เด็ก… แปด อ่านว่า “แอ-ปอ-ดอ”, โต อ่านว่า “โอ-ตอ” และ จำ อ่านว่า “จอ-อำ-อา”!! เกิดปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่แตก ผู้ใหญ่อ่านแบบเรียนเด็กไม่รู้เรื่อง กลายเป็นประเด็นดราม่าที่ดุเดือดอยู่บนโลกออนไลน์ในขณะนี้!!

หลักสูตรพิเรนทร์? ต้องฟ้องถึงครูใหญ่!!
เมื่อคำว่า “เก” ไม่ได้อ่านว่า “กอ-เอ” แต่อ่านว่า “เอ-กอ”
เมื่อคำว่า “จำ” ไม่ได้อ่านว่า “จอ-อำ” แต่อ่านว่า “จอ-อำ-อา”
เมื่อคำว่า “มือ” ไม่ได้อ่านว่า “มอ-อือ” แต่อ่านว่า “มอ-อือ-ออ”
เมื่อคำว่า “เสื่อ” ไม่ได้อ่านว่า “สอ-เอือ-เสือ-ไม้เอก-เสื่อ” แต่อ่านว่า “เอ-สอ-อือ-ไม้เอก-ออ”!!!

ทั้งหมดนี้คือวิธีการสอนที่เขียนลงไปในแบบเรียนของเด็กชั้นประถมของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งจริงๆ โดยให้เหตุผลที่ต้องสอนให้แตกต่างจากความคุ้นชินของคนทั่วๆ ไปเอาไว้ว่า

“สะกดอ่านเรียงไปตามตัวอักษร เพื่อให้เด็กเขียนได้เร็วและถูกต้อง สามารถวางตำแหน่งของสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ และตัวสะกด ได้ถูกที่”

มองเผินๆ แล้วอาจจะเป็นวิธีการสอนที่ดูสร้างสรรค์และน่าจะช่วยให้เด็กๆ เขียนหนังสือได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะการสอนด้วยวิธีเดิมๆ อาจทำให้เด็กเขียนผิดได้ง่ายๆ เช่น ถ้าอ่านคำว่า “เก” เป็น “กอ-เอ” ตามวิธีการสอนที่หลายคนร่ำเรียนกันมา อาจทำให้เด็กเขียนตามคำอ่านจนกลายเป็น “กเ” หรือ คำว่า “แปด” ถ้าอ่านว่า “ปอ-แอ-ดอ” จะก็เป็น “ปแด”

แต่หารู้ไม่ว่า วิธีการสอนแบบใหม่นี้แหละที่น่าจะ “สร้างปัญหา” มากกว่าจะ “แก้ปัญหา” เพราะการสอนให้เด็กอ่านแยกชิ้นส่วนตามตำแหน่งการวางของพยัญชนะ-สระ-วรรณยุกต์ และตัวสะกด ทำให้เด็กเขียนถูกก็จริง แต่กลับทำให้พวกเขา “เขียนถูกแต่อ่านไม่ออก” และอีกสารพันปัญหาที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยโวยว่อนเน็ตว่า จะไม่ยอมให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนที่สอนแบบนี้เด็ดขาด!!

“แทนที่จะแก้ปัญหา คิดว่าน่าจะสร้างปัญหามากกว่านะคะ เพราะแทนที่จะให้เด็กรู้จักสระของภาษาไทยให้ครบ ให้ถูกต้อง แต่นี่มาใช้วิธีให้เด็กท่องเป็นส่วนๆ ทีนี้เด็กก็จะงงว่า เอ๊ะ! สระภาษาไทยมีกี่ตัวกันแน่ เรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นการสอนที่ไม่มององค์รวมของคำน่ะค่ะ เรารู้สึกว่าเขาไปโฟกัสแก้ปัญหาเรื่องเขียนผิดมากเกินไป แต่สิ่งที่ควรจะทำคือต้องสอนให้เด็กรู้จัก พยัญชนะ-สระ-วรรณยุกต์ ในภาษาไทยให้ครบต่างหาก

เราทำงานแปล อยู่กับตัวอักษร เห็นอย่างนี้แล้วรู้สึกว่าเสียดายภูมิปัญญาของบรรพบุรุษค่ะ สมมติว่าโรงเรียนอื่นเห็นว่าวิธีสอนแบบนี้ดีและทำตามกัน มันไม่ใช่แน่ๆ ค่ะ อย่างเรามี “สระเออ” เวลามาอ่านสะกดคำแบบนี้ก็จะกลายเป็นแค่ “สระเอ+อ อ่าง” เพราะเขาอ่านแยก เด็กก็จะจำไม่ได้ว่ามันมาจากสระเออ และทำให้เด็กไม่ได้รู้จักภาษาไทยที่ถูกต้อง ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความลึกซึ้งในตัวเองค่ะ ไม่ใช่จะเอาสัญลักษณ์มาใส่รวมกันแล้วมองแค่นั้น

เพื่อนๆ ที่เป็นแม่เหมือนกันก็ตกใจเหมือนกันค่ะที่เห็นแบบเรียนนี้แชร์กัน ทุกคนคิดเหมือนกันว่า ฉันคงสอนลูกฉันไม่ได้แน่ๆ และเราจะไม่ส่งลูกไปเข้าโรงเรียนที่สอนแบบนี้ บอกเลยค่ะ (น้ำเสียงเด็ดเดี่ยว) ถ้าอยากจะให้ลูกเราเรียนแบบนี้ อย่าเรียกมันว่าภาษาไทยค่ะ เรียกว่าการสะกดคำ คือถ้าจะให้เรียน คุณต้องมีหลักภาษาที่ถูกต้องสอนเด็กด้วย สมมติว่าถ้าลูกเราเรียนโรงเรียนที่มีหลักสูตรสอนแบบนี้ เราคงเอาปัญหานี้ยื่นร้องเรียนไปถึงอาจารย์ใหญ่เลยค่ะ

ส่วนตัวแล้วก็โตมากับโรงเรียนที่ไม่ได้สอนหลักสูตรสามัญเหมือนกันค่ะ คือมันขึ้นอยู่กับโรงเรียนมากกว่า ถ้าจะสอนให้แตกต่างแล้วสามารถพัฒนาให้เด็กเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นมันก็ดีค่ะ แต่ทำแล้วมันไปผิดทางแบบนี้ก็อยากให้กลับไปพิจารณากันใหม่ด้วยว่ามันใช่หรือไม่ใช่กันแน่ ถ้ามีคน เอ๊ะ! เยอะขนาดนี้ มันไม่ใช่แล้วล่ะ

คิดดูสิคะเวลาลูกมาให้เราสอนการบ้าน เราจะสอนเขายังไง คือเราอาจจะสอนลูกได้แหละค่ะ แต่เป็นแบบผิดๆ ถูกๆ ก็อาจจะต้องบอกลูกว่า หนูไปถามครูแล้วกัน แม่สอนการบ้านหนูไม่ได้แล้วล่ะ เพราะแม่ก็มึนกับแบบเรียนของหนูเหมือนกัน ซึ่งมันก็ไม่ใช่คำตอบที่เราควรให้ลูกนะ” จิ-ปติมา รัชตวรรณ คุณแม่ลูกหนึ่ง นักแปลผู้คร่ำหวอดในวงการตัวอักษรขอแสดงความคิดเห็นแบบจัดเต็ม!!

แน่นอน! หลายคนคงอยากรู้ว่าโรงเรียนประเภทไหนกันแน่ที่มีหลักสูตรการสะกดคำออกมาแบบนี้ จากข้อมูลที่เหล่าผู้ปกครองเข้ามาโต้เถียงกันบนโลกออนไลน์ ได้ความว่า “โรงเรียนสารสาสน์” และโรงเรียนในเครือคือต้อตอแบบเรียนเจ้าปัญหาที่ว่านี้ และนี่คือข้อดีและข้อเสียของการสอนด้วยวิธีนี้จากปากคำของผู้ผ่านประสบการณ์มาด้วยตัวเอง

“การสอนอ่านแบบสารสาสน์ฯ ไม่ใช่หลักสูตรใหม่อะไรเลยค่ะ ตัวเราเองก็จบจากสารสาสน์ ก็เรียนการสะกดและเขียนอ่านแบบนี้มา ตอนนี้ลูกสาวคนเล็กก็เรียนสารสาสน์ฯ อยู่ชั้น KG3 ก็เขียนอ่านได้ อ่านนิทานได้เองแล้ว”

“กำลังจะพาลูกย้ายโรงเรียนไปที่โรงเรียนสารสาสน์ฯ สายไหมค่ะ ซึ่งได้พาลูกไปทดสอบ เพื่อนเข้าเรียนต่อ แต่มีปัญหานิดหนึ่งค่ะ อย่างโรงเรียนเดิมลูก ก็จะสอนภาษาไทย แบบว่า สระเ-า (เอา) เวลาเอาตัวพยัญชนะไปผสม เช่น ก+เ-า = เกา… แต่ที่โรงเรียนสารสาสน์ฯ บอกว่าที่โรงเรียนมีหลักการสอน การอ่านและเขียน เช่น คำว่า “เกา” จะอ่านว่า เอ+กอ+อา = เกา

ผลที่จากที่ลองสอน ลูกสาวจะอ่านว่า “กา” ค่ะ ไม่เป็น “เกา” เหตุผลที่คุณครูให้ในหลักการสอนวิธีนี้คือ น้องจะได้เขียนได้ถูกต้อง ไม่ต้องจำสระเป็นชุดๆ ตอนแรกก็เห็นด้วยค่ะ เลยกลับมาลองสอน แต่ลูกสาวออกเสียง พยัญชนะ+สระ ไม่ได้เลยค่ะ เหมือนเขางง ส่วนตัวแม่เองก็งงค่ะ คือสอนแบบใหม่ก็ดีในแง่เขียน แต่ในแง่เสียงอ่านนี่ มันยากมากเลยค่ะ”

“ลูกเรียนที่สุราษฎร์ธานี ร.ร.ธิดาแม่พระ ก็สอนให้เด็กสะกดแบบ เอ-กอ-อา = เกา เหมือนกันค่ะ ข้อดีคือ เด็กจะเขียนหนังสือได้เร็ว ส่วนข้อเสียคือ เด็กไม่รู้จักสระที่ถูกต้อง สระเอือ, เอือะ, เอีย, เอียะ ฯลฯ พวกนี้ถ้าเราอ่านออกเสียง แรกๆ ลูกเขียนคำนั้นไม่ถูกเลย

เทอมที่ผ่านมา อนุบาล 3 ลูกมีการบ้านเขียนตามคำบอกทุกวัน วันละ 20 คำ ปัญหาที่เจอคือ เราบอกให้เขียนคำว่า “เลอะเทอะ” ลูกจะสะกดว่า เอ-ลอ-ออ-อะ = เลอะ, เอ-ทอ-ออ-อะ = เทอะ แต่ถ้าวันไหนเขาเหนื่อย ไม่ค่อยจะยอมทำ เขาจะถามว่ามันสะกดยังงัย พอเราสะกดให้ฟังว่า “ลอ-เออะ = เลอะ” ลูกทำหน้างงเลย เพราะเขาจำสระเออะไม่ได้ ไม่ชินกับการสะกดแบบนี้

ที่ทราบมาคือ พอขึ้น ป.1 ร.ร.จะสอนการอ่านเหมือนแบบที่เราเคยเรียนมาสมัยเด็กๆ จึงไม่เข้าใจว่าการให้เด็กสะกดแบบตามตัว เพื่อผลที่จะให้เด็กเขียนได้เร็วนั้น เป็นสิ่งที่ดีหรือเปล่า เพราะพอ ป.1 เด็กคงงงน่าดู เพราะต้องสะกดอีกแบบแล้ว”

“ร.ร.ในเครือสารสาสน์สอนแบบนี้ทั้งเครือค่ะ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนแบบนี้นะคะ เพราะเด็กจะไม่รู้จักสระที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องแล้วแต่พ่อแม่พิจารณาแหละค่ะว่าชอบแนวการสอนของ ร.ร. มั้ย”

“สอนแบบนี้ มันไม่ถูกหลักภาษานะคะ สอนให้จำ แต่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ เช่น ถ้าเราสอนแบบปกติ คำว่า “เดา” เด็กก็จะอ่าน “ดอ-เอา-เดา” พอคำว่า “เบา” เด็กก็จะอ่าน “บอ-เอา-เบา” แค่รู้จักสระเอาก็จะนำไปใช้สะกดตัวอื่นๆ ได้ แต่ถ้าอ่านแบบแยกว่า “เอ-กอ-อา = เกา” มันเป็นการปูพื้นภาษาที่ผิดมากๆ ตอนแรก คิดว่าจะให้ลูกเรียนที่นี่เพราะใกล้ เจอหลักสูตรพังๆ แบบนี้ คิดหนักเลยค่ะ!!”

“โรงเรียนเอาง่าย ให้เด็กเขียนได้ไวๆ จะได้ดูเหมือนกับว่าเด็กเก่ง ผมว่าน่าสงสารนะครับ เพราะต่อๆ ไปเด็กจะอ่านหนังสือไม่ออก ถามว่าทำไมเขาถึงสอนมาได้หลายรุ่นแล้ว ก็หลายรุ่นแล้วที่เด็กอ่านไม่ออก สมัยรุ่น หลักสูตร แม่ กอ-กา เด็ก ป.4 ยังอ่านหนังสือคล่องกว่าเด็ก ม.1 สมัยนี้อีก”

“ผมว่าเป็นการสอนภาษาไทยที่งี่เง่ามากครับ รุ่นพี่ผมก็เอาลูกจาก รร.นี้ เพราะเรื่องนี้เช่นกันครับ มีที่ไหน ภาษาไทยแต่ให้ฝรั่งเป็นคนแต่งหนังสือ”
หลักสูตรอะไร ถ้าไม่ “ใส่ใจ” ก็จบ!
หลายหลายความคิดเห็นช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์วิธีการสอนที่หลายคนเรียกว่าทำให้ภาษาไทย “พิสดาร” และหลักสูตร “พัง” ลองมาฟังความคิดเห็นของ ศ.ดร.อารี สัณหฉวี อาจารย์ประจำโรงเรียนสาธิตบางนา ผู้ศึกษาเรื่องการเรียนการสอนเด็กอนุบาล-ประถมวัยกันดูบ้าง เรื่องนี้อาจารย์ไม่ขอยำเละอะไรมากมายนัก บอกได้คำเดียวว่า สาเหตุที่เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ อยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะครูผู้สอน-ผู้ระบุหลักสูตรนี่แหละที่เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาแก้ไขเรื่องที่ไม่ควรแก้ และละเลยเรื่องที่ควรใส่ใจ จึงทำให้ “เละ” กันอยู่แบบนี้

“ไปดูที่เกาหลี ตามบ้านชาวนา เขามีห้องสมุดทุกบ้านนะคะ เพราะเขาปลูกฝังการรักการอ่านมาตั้งแต่เล็กๆ ให้มี “หนังสือเล่มแรก” ที่ทำขึ้นมาเฉพาะสำหรับสอนเด็กก่อนวัยเรียนเลย ซึ่งคิดว่าถ้าเมืองไทยเราอยากจะแก้ปัญหาเรื่องการอ่าน เราต้องมาจริงจังกับเรื่องนี้ และน่าจะได้ผลตอบรับเรื่องทำให้พ่อแม่กับลูกมีความสนิทสนมกันไปด้วยเลยทีเดียว ถ้าพ่อแม่ให้ลูกนั่งตัก อ่านหนังสือให้ฟัง เด็กจะได้ความอบอุ่น มีความสุข ทำให้เขาชอบหนังสือ

แต่ทุกวันนี้ เด็กของเราส่วนใหญ่ไม่เคยได้ทำความคุ้นเคยกับหนังสือเลย ไม่ค่อยได้ฟังพ่อแม่หรือครูเล่านิทานให้ฟัง พอมาถึงตอนเรียนหลักสูตรสะกด-ผสมคำ ก็เริ่มมาอ่าน กอ-อา = กา กันเลย มันก็เลยไม่ค่อยไปไหน จริงๆ แล้วมันต้องเริ่มมาจากพื้นฐานเลยค่ะ มันเริ่มช้าไปแล้ว เด็กก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและจำไม่ได้ เพราะยิ่งถ้าให้เด็กเริ่มอ่านจากหลักสูตร บังคับให้เด็กสะกดเป็นตัวๆ มันก็แอบทารุณเหมือนกันนะ เด็กบางคนไม่ได้ถูกสอนมาตั้งแต่อนุบาล ไม่มีใครคุยด้วย พอมาสอนตามหลักสูตรแบบนี้ปั๊บ เด็กก็เลยจำไม่ได้สักที

ส่วนตัวแล้วคิดว่า ควรจะให้เน้นเรื่องการอ่านออกเป็นหลักก่อน ส่วนเรื่องการเขียนมันสอนที่หลังได้ค่ะ เปรียบเทียบง่ายๆ จากเด็กอายุ 3 ขวบนะคะ ถ้าบังคับให้เขาเขียนตั้งแต่เล็กๆ เขาจะเขียนไม่ค่อยถูก จับดินสอไม่เป็น กำดินสอแน่นเลย ส่วนเด็กที่เริ่มโตแล้วอย่างเด็กประถม ที่เห็นว่ายังเขียนผิดกันอยู่ อาจจะเพราะเขาอ่านน้อยหรือไม่เข้าใจหลักการสอน เราต้องให้เขาเห็นตัวหนังสือบ่อยๆ ค่ะ เขาก็จะจำได้ เรื่องความจำของมนุษย์เรา ต้องฝึกบ่อยๆ ค่ะ แล้วจะจำได้เอง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากเห็นก็คืออยากให้ครูผู้สอนสนใจสอนเด็กแบบตัวต่อตัวมากขึ้นค่ะ เพราะอย่างสมัยก่อนสอนแบบ “เลข-คัด-เลิก” คือครูเขียนโจทย์ไว้บนกระดาน แล้วให้เด็กมาตอบทีละคน เด็กก็อ่านออกเขียนได้กัน เพราะครูคอยจี้ แต่สมัยนี้ การฝึกหัดครูของเราแย่หน่อย โดยเฉพาะครูประถม เราไปเน้นทฤษฎีมากเกินไป ไม่ได้ฝึกภาคปฏิบัติ ครูเลยไม่ชินกับการสอนเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเรียกเด็กมาอ่านทีละคุณเหมือนสมัยก่อนแล้ว จะสอนรวมๆ กัน ทำให้เด็กไม่ค่อยได้ ทำให้เกิดปัญหาเด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ อันนี้ไม่ได้โทษครูนะคะ แต่โทษหลักสูตรการฝึกหัดครู มันไม่มีภาคปฏิบัติที่ดีพอ

ถ้าอยากให้เด็กอ่านออก-เขียนได้ เราก็ต้องปลูกฝังเขามาตั้งแต่แรกๆ และช่วยกันสนับสนุนให้มีหนังสือเด็กมากขึ้น ให้เด็กได้อ่านเยอะๆ อย่างน้อยๆ ตอนเย็นก่อนกลับบ้าน อยากให้ครูเล่านิทานให้เด็กฟัง เพราะเวลาเขาฟัง ใจเขาจะคิดตาม เขาจะมองเห็นภาพ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ อ่านหนังสือตอนเช้าๆ ให้เด็กฟังก็ได้ ให้เขาได้อ่านได้ฟังได้พูดมากๆ แต่ทุกวันนี้ เราไม่ค่อยได้ให้อะไรแบบนั้นกับเด็ก แต่ให้เด็กมานั่งเรียงกัน 40-50 คน ครูสอนด้วยไมโครโฟน น่าสงสารเด็กนะ เพราะถึงจะสอนด้วยวิธีใหม่แค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ใส่ใจนักเรียน เด็กก็อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้อยู่ดี”

ก็ได้แต่หวังว่าคำแนะนำจากอาจารย์และคำติชมจากผู้ปกครองครั้งใหญ่ครั้งนี้ จะทำให้ผู้ขยันสร้างหลักสูตรพิสดารหันกลับมาฉุกคิดอะไรได้บ้าง ก่อนที่จะทำให้หายนะเกิดขึ้นกับภาษาไทยและสมองน้อยๆ ของเด็กๆ แม้จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม…

 

 รายการอ้างอิง : 2557. หายนะภาษาไทย? ผู้ปกครองเพลีย โรงเรียนสอนอะไรให้ลูก!!. ASTVผู้จัดการรายวัน. 1 กรกฎาคม 2557.

 – ( 1653 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ one = 7

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>