คณะนักวิทยาศาสตร์ นำโดย Dave O’Connor ศาสตราจารย์ของ University of Wisconsin-Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มต้นการทดลองเพื่อศึกษาผลของไวรัสซิก้าที่มีต่อพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ โดยใช้ลิงเป็นสัตว์ทดลอง คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ฉีดเชื้อไวรัสซิก้าให้แก่ลิงทดลองในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 และมีการเผยแพร่ความคืบหน้าของการทดลอง เช่น ผลการอัลตราซาวด์และการตรวจเลือด แบบ Real time บนเว็บไซต์ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปติดตามผลการทดลองได้ในทันที ไม่ต้องรอให้การทดลองเสร็จสิ้นและผ่านระบบการตรวจสอบเพื่อตีพิมพ์ที่ใช้เวลายาวนาน
O’Connor ให้สัมภาษณ์กับสื่อของสหรัฐฯ ว่า การทดลองดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมและศีลธรรม เนื่องจากลิงตั้งครรภ์ที่ถูกใช้ในการทดลองจะได้รับไวรัสซิก้า เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสที่มีต่อลูกลิงในครรภ์ แต่เขาเห็นว่า หญิงตั้งครรภ์ในหลายๆ ประเทศที่มีการระบาดของไวรัสซิก้ากำลังได้รับผลกระทบจากไวรัสชนิดนี้ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้มากนัก เขาเชื่อว่าการศึกษาครั้งนี้จึงมีความจำเป็นต่อมนุษย์จำนวนมาก
นอกจาก การตัดสินใจเลือกระหว่างประเด็นด้านศีลธรรมกับความจำเป็นของการศึกษาครั้งนี้แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนสนใจคือ การเผยแพร่ข้อมูลและความก้าวหน้าของการวิจัยแบบ Real time ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการวิจัยด้านชีววิทยา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/296-knowledges/21982-science-and-technology-news
ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา. (2559). รายงานข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากวอชิงตัน เดือนกุมภาพันธ์ 2559. ค้นข้อมูลวันที่ 29 เมษายน 2559 จาก http://ostc.thaiembdc.org/2016/?page_id=3110– ( 50 Views)