เรื่องจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า อย่าชะล่าใจ เพราะเป็น 1 ใน 15 ข้อของสนธิสัญญาการบริหารเครือข่ายโทรคมนาคมของโลก หรือ อินเทอร์เน็ต เทเลคอมมูนิเคชั่น เร็กกูเรชั่น (Internet Telecommunication Regulation : ITR) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้มีการตกลงให้แก้ไขเนื้อหาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) โดยปลายเดือน ธ.ค.2555 ประเทศสมาชิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ราว 180 ประเทศจะมีการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ระหว่างการประชุมด้านโทรคมนาคมซึ่งไอทียูจัดขึ้นที่ประเทศดูไบ
น.ส.ดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหาร อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ ประเทศไทย (ไอซอก) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิก ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ดูแลเกี่ยวกับมาตรฐานอินเทอร์เน็ตโลก กล่าวถึงเนื้อหาของสนธิสัญญาเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ตกลงให้มีการแก้ไข ว่า เกือบ 2 ปีของการแก้ไขเนื้อหา พบว่ามี 10 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย อิหร่าน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่แก้ไข ซึ่งประเทศไทยหน่วยงานที่ดูแลยังไม่แสดงท่าทีต่อประเด็นดังกล่าว
สำหรับเนื้อหาของสนธิสัญญาที่แก้ไขจาก 15 ข้อ มี 6 ข้อที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ได้แก่ 1. ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต 2. การใช้ทรัพยากรเลขหมายในทางที่ผิด 3. การกำหนดนิยามเรื่องบริการโทรคมนาคม 4. ระบุตัวตนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและประวัติการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต 5. คุณภาพบริการ และ 6. ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย
น.ส.ดวงทิพย์ ยกตัวอย่างขอบเขตสนธิสัญญาที่แก้ไข ว่า หนึ่งในเรื่องที่แก้ไขเนื้อหา คือการใช้อินเทอร์เน็ต โพรโตคอล แอดเดรส (ไอพี แอดเดรส) ซึ่งระบุว่าประเทศสมาชิกต้องหาวิธีใดวิธีหนึ่งในการคิดค่าบริการจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เชื่อมต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยไอพี แอดเดรส ซึ่งเป็นความพยายามที่จะจัดเก็บค่าบริการจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกครั้ง และเก็บเงินทุกครั้งที่เข้าสู่ข้อมูลต่าง ๆ โดยเก็บเงินทั้งจากผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ เป็นการแก้เนื้อหาโดยอิงรูปแบบการเก็บค่าบริการจากรูปแบบการคิดค่าบริการของโทรศัพท์มือถือ
“ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเนื้อหาสนธิสัญญานี้ คือ เมื่อไหร่ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและคลิกเข้าไปยังเนื้อหา หรือข้อมูลต่าง ๆ ผู้ใช้งานจะถูกเก็บค่าบริการ ซึ่งเป็นผลเสียกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่โปรโมตสินค้าและห้องพักทางอินเทอร์เน็ตเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาซึ่งต้องจ่ายค่าบริการจากการนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ ขณะที่นักเรียน นักศึกษาก็ต้องจ่ายค่าบริการจากการคลิกดูเนื้อหา”
นอกจากนี้ น.ส.ดวงทิพย์ กล่าวว่า เนื้อหาของสนธิสัญญาที่แก้ไขเปลี่ยนเป็นแบบบังคับใช้ แทนการเลือกยอมรับเฉพาะกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศตนเอง ทำให้การลงนามในสนธิสัญญาเป็นการผูกมัดการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งที่ไม่เหมาะสมกับประเทศตนเอง
ต่อข้อถามที่ว่า เมื่อเนื้อหาของสนธิสัญญาที่แก้ไขไม่เหมาะสมกับประเทศไทยแล้วประเทศไทยจะมีทางออกอย่างไร น.ส.ดวงทิพย์ กล่าวว่า เรื่องนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ผู้ที่มีอำนาจลงนามในสนธิสัญญาต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อเนื้อหาในสนธิสัญญาที่แก้ไข เนื่องจากระหว่างวันที่ 3-14 ธ.ค. 2555 เป็นเวลาที่อยู่ในกระบวนการต่อรองสนธิสัญญา หากมี 25% ของประเทศที่เป็นสมาชิกไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของสนธิสัญญา ต้องนำสนธิสัญญาที่แก้ไขมาพิจารณาใหม่ แต่ถ้าประเทศสมาชิกเห็นด้วย 100% ก็จะมีการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2555 ดังนั้นประเทศไทยต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และหากประเทศไทยไม่ลงนามในสนธิสัญญาก็จะถูกบล็อกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากอีก 179 ประเทศที่เป็นสมาชิกไอทียู.
เอกชนวอน กสทช.-ไอซีที แสดงจุดยืนชัดเจน
เป็นเรื่องแปลกที่การแก้ไขเนื้อหาของสนธิสัญญาเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่จะส่งผลกระทบคนไทยกลับยังไม่มีข่าวออกจากหน่วยงานที่จะจดปากกาลงนามในสัญญา
ดร.มนู อรดีดลเชษฐ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ (เอทีซีไอ) กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ ในขณะที่ประเทศจีนใหญ่กว่ามาก ถ้าต้องจ่ายเงินในการคลิกเข้าดูข้อมูลและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกครั้ง ประเทศไทยคงแย่ และจะทำให้เกิดการชะงักในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของทุกคน ที่สำคัญไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนคิดค่าบริการในการคลิกเข้าดูข้อมูล และค่าบริการในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในแต่ละครั้ง
นายบุญรักษ์ สรัคคานนท์ กรรมการสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ (เอทีซีไอ) กล่าวว่า หากประเทศไทยต้องเข้าสู่การจ่ายเงินทุกครั้งที่เข้าดูเนื้อหาออนไลน์และจ่ายเงินทุกครั้งที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แล้วแท็บเล็ต ป.1 ที่รัฐบาลแจกให้กับเด็ก ป.1 ประมาณ 1 ล้านคน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายให้ และโครงการแท็บเล็ต ป.1 ที่แจกให้เด็ก ๆ ก็จะไม่มีความหมาย ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจหากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้อีกก็คงรับไม่ไหว และจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งจะเกิดขึ้นกับประชาชนทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 24 ล้านคน
รายการอ้างอิง :
ช็อก!! กฎใหม่คลิกทุกครั้งต้องจ่ายตังค์. เดลินิวส์ (ไอที). วันที่ 8 ตุลาคม 2555.– ( 113 Views)