สวทชและกลุ่มสามารถ ร่วมสร้างนักธุรกิจเทคโนโลยีป้อนสู่ตลาด ผ่านโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี มุ่งส่งเสริมความรู้ พัฒนาทักษะ หวังขยายฐานนักธุรกิจรุ่นใหม่ในสายเทคโนโลยี ล่าสุด มีจำนวนผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 26 ผลงานเด่น พร้อมรับทุนพัฒนาผลงานต้นแบบ ทุนละ 20,000 บาท รวมมูลค่ากว่า 500,000 บาทนาย เจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจากความร่วมมือระหว่าง Samart Innovation Awards โดย “กลุ่มบริษัทสามารถ” และ “ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ”ภายใต้ “สวทช.” ในการเตรียมความพร้อมและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่นักพัฒนาด้านเทคโนโลยี รุ่นใหม่ ด้วยการจัดโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี”ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยจุดเด่นของโครงการฯ นอกจากจะเป็นการประกวดแนวคิดและผลงานทางด้านเทคโนโลยีที่มีคุณค่าทาง เศรษฐกิจและทางสังคมแล้ว ยังมีการเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจ รวมทั้ง ที่สำคัญ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ชนะการประกวดนำเสนอแผนงานต่อภาคธุรกิจเอกชนที่มีความสนใจ และมีความพร้อมในการร่วมลงทุนอีกด้วย โดยหลังจากเปิดตัวโครงการฯ ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีกระแสตอบรับที่ดีและมีจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้นถึง 120 ผลงานและผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายจำนวน 26 ผลงาน ซึ่งกลุ่มบริษัทสามารถจะให้การสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จำนวน 26 ทุนๆละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 520,000 บาท ทั้งนี้ การนำเสนอผลงานในรอบสุดท้ายจะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค 55 และประกาศผลในต้นปีหน้าทั้งนี้ผู้ชนะเลิศยังจะได้รับเงินรางวัลจาก Samart Innovation Awards 2012 จำนวน 200,000 บาทอีกด้วย
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงความเข้มข้นในการตัดสินว่า การคัดเลือกผู้เข้ารอบ 26 ทีมเพื่อให้ได้รับทุนวิจัยฯนั้น ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งด้านการตลาด การเงิน และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถพัฒนา Idea to market ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยแบ่งผลงานที่ได้รับทุนฯเป็น 3 ประเภท ได้แก่ประเภท Digital Content & Mobile Application จำนวน 7 โครงการประเภท Enterprise Software จำนวน 9 โครงการ และประเภท Machinery,Material & Medical Technology จำนวน 10 โครงการ
จาก นี้ไปทั้ง 26 ทีมที่ได้รับทุนฯจะต้องผลิตผลงานต้นแบบหรือ Product Prototype ของตนเองให้สำเร็จ สามารถทำงานได้จริงตามที่ได้ออกแบบไว้และตรงกับความต้องการของตลาดให้มากที่ สุด โดย สวทช.จะนำกลไกต่างๆที่สวทช.มีช่วยสนับสนุนให้ผลงานสามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ ได้จริง อาทิเช่นการเชื่อมโยงผลงานต่าง ๆ เข้าสู่ศูนย์แห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสวทช. เพื่อสนับสนุนความเป็นเลิศของผลิตภัณฑ์ , การพาออกสู่ตลาดผ่านงานแสดงสินค้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม, การให้ความรู้เพื่อเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และการเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ผ่านกลไกศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของสวทช.เป็นต้น
“โครงการเถ้าแก่น้อย เทคโนโลยี ที่สวทช.ร่วมกับกลุ่มบริษัทสามารถนี้เป็นงานที่ท้าทายและสำคัญมาก เป็นเสมือนการดึงพลังคนรุ่นใหม่ ไฟแรง ที่มีความรู้ ความสามารถ ให้เติบโตเป็นเจ้าของธุรกิจได้เร็วขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของ ไทย”ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวปิดท้าย
รายการอ้างอิง : ‘สวทช. ‘ร่วม’สามารถ’ มอบทุนวิจัยครึ่งล้านหนุน 26 ผลงานดีเด่นเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี. พิมพ์ไทย (ธุรกิจ-การตลาด/เศรษฐกิจ). ฉบับวันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555.– ( 155 Views)