magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก “รำข้าว” สารพัดประโยชน์
formats

“รำข้าว” สารพัดประโยชน์

“รำข้าว” ผลพลอยได้จากท้องนา จากส่วนผสมในอาหารสัตว์ได้ไต่ระดับเข้ามามีบทบาทในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เคลือบเงาในปัจจุบัน

ความมหัศจรรย์ของ “รำข้าว” ผลพลอยได้จากเกษตรกรรม ที่แต่ก่อนเป็นได้เพียงแค่อาหารสัตว์ ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้น ในฐานะสารสำคัญที่ใช้ผลิตเครื่องประทินผิว แต่บทพิสูจน์โดยบริษัท อู่ข้าว อู่น้ำ จำกัด แสดงให้เห็นแล้วว่าวันนี้ รำข้าวเป็นได้ “มากกว่า”

ผลการตัดสินรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2555 โดยมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมป์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ช่วยการันตีว่า ผลผลิตจากน้ำมันรำข้าวอินทรีย์ สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ครีมอเนกประสงค์ สำหรับอุปกรณ์ภายในรถยนต์ได้ โดยมีประสิทธิภาพไม่แพ้ครีมเคลือบเงาจากชาติ
“พรทิพย์ ตั้งกีรติ” กรรมการบริหาร บริษัท อู่ข้าว อู่น้ำ จำกัด เจ้าของแนวคิดนวัตกรรมจากรำข้าว บอกว่า ทุกวันนี้สารเคมีถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด จนกลายเป็นความเคย และละเลยถึงปัญหาสุขภาพที่ตามมาในระยะยาว

: บอกลาเคมี
สิ่งที่เธอพบหลังจากนำรถยนต์ออกจากศูนย์บริการล้างทำความสะอาดทุกครั้ง คือเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก จากกลิ่นที่ไม่พึ่งประสงค์ซึ่งเกิดจากสารเคมีที่ใช้เคลือบเงารถยนต์ เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับรถยนต์ผลิตจากสารเคมีเกือบ 100%

“นอกจากกลิ่นเหม็นติดรถแล้ว สารเคมียังเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว สำหรับคนใช้รถที่ต้องสูดดมสารเคมีตลอดเวลาในสภาวะที่อากาศไม่ถ่ายเท” เธอกล่าว และให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปครีมเคลือบเงารถจะประกอบด้วยสารเคมีสังเคราะห์จำพวกซิลิโคนที่มีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลาย ลดแรงตึงผิว รวมถึงเป็นสารที่ใช้ในการขึ้นรูป ซึ่งง่ายต่อการระเหย จึงมักก่อให้เกิดปัญหาการระคายเคืองและอาการแพ้แก่ผู้ใช้ในภายหลัง

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หาทางออกให้กับปัญหานี้อย่างถาวร

: ไอเดียต่อยอด
ด้วยความสนใจในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้จากข้าวอินทรีย์อยู่เป็นทุนเดิม ทำให้เธอเริ่มต้นทดลองใช้กากน้ำมันจากรำข้าวอินทรีย์ มาพัฒนาเป็นครีมเคลือบเงารถยนต์ เพื่อใช้แทนแว๊กซ์เคลือบเงารถยนต์ที่ทำจากสารเคมี

“ครีมสำหรับทำความสะอาดและเคลือบเงาอุปกรณ์ภายในรถยนต์ ที่ใช้น้ำมันรำข้าวอินทรีย์เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต สามารถทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ครีมเคลือบเงารถที่ผลิตจากไขสังเคราะห์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาทิ Paraffin wax, Polypropylene หรือ ไขจากธรรมชาติ ได้แก่ Carnauba wax ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ” พรทิพย์กล่าวย้ำ และได้เริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนหาข้อมูลทางวิชาการมาช่วยยืนยันประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเธอเชื่อว่าจะเป็นใบเบิกทางที่ทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับในสายตาคนทั่วไป เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้ามาพลิกโฉมวงการรถยนต์อย่างแท้จริง

“งานวิจัยทำให้เราพบว่า ครีมที่ได้จากน้ำมันรำข้าวอินทรีย์ มีสาร Gamma-oryzanol ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบเฉพาะในน้ำมันรำข้าว ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวี ให้กับรถยนต์ คอนโซลหน้า รวมถึงเบาะรถยนต์ อีกทั้งยังช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ภายในรถ ให้กลิ่นหอมธรรมชาติ ปราศจากสารพิษ” เธอกล่าว

: เปิดตลาดนวัตกรรม
จากความสำเร็จของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านประสิทธิภาพ นำมาสู่ขั้นตอนของการพัฒนาเทคนิคการคงสภาพ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนสร้างตราสินค้าผลิตภัณฑ์ครีมอเนกประสงค์ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “TIP CAR RICE WAX” เพื่อจำหน่ายเป็นทางเลือกให้กับธุรกิจบริการดูแลรักษารถยนต์เป็นหลัก

พรทิพย์บอกว่า ความโดดเด่นในตัวผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เคยปรากฎในท้องตลาดมาก่อน ทำให้ ครีมอเนกประสงค์จากน้ำมันรำข้าวได้รับความสนใจจากบริษัทผู้จัดจัดหน่ายน้ำมัน ซึ่งต้องการนำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดทางการตลาดส่งออก ซึ่งเธอมองว่า เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ

เนื่องจากนวัตกรรมจากน้ำมันรำข้าว จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลรักษารถยนต์ที่ผลิตจากวัตถุดิบอินทรีย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูง เพราะความสะอาดที่ได้จากธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคมองหา

รายการอ้างอิง :

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา. “รำข้าว” สารพัดประโยชน์. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555.– ( 289 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


three × 5 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>