magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก นกยอดหญ้าหัวดำ
formats

นกยอดหญ้าหัวดำ

นกยอดหญ้าหัวดำ (Stonchat, Stejneger’s Stonechat หรือ Eastern Stonechat) เป็นนกขนาดเล็ก ซึ่งเป็นทั้งนกประจำถิ่นและอพยพเข้ามาเฉพาะช่วงฤดูหนาว ซึ่งพบได้บ่อยทั่วทุกภาค มีประชากรชุกชุม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Saxicola torquata อยู่ในวงศ์นกเขน,นกกางเขนและนกเดินดง (Turdidae) จำแนกอยู่ในเหล่านกยอดหญ้า (Saxicola) ในประเทศไทยพบเพียง 4 ชนิด คือ นกยอดหญ้าหัวดำ (Stonchat), นกยอดหญ้าสีดำ (Pied Buschat), นกยอดหญ้าหลังดำ (Jerdon’s Bushchat) และนกยอดหญ้าสีเทา (Grey Bushchat )นกยอดหญ้าหัวดำ วัดขนาดความยาวจากปลายปากถึงปลายหางได้ 14 ซม. โดยทั่วไปในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้และตัวเมียสีจะคล้ายกัน ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลมีลายดำเปรอะทั่วตัว ที่หัวด้านบนสีน้ำตาลเทามีลายสีน้ำตาลเข้มไปถึงบนหลัง ช่วงไหล่และปีกบนมีแถบขาว

แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้สีที่หัว คอ ปีก และหางเป็นสีดำ ส่วนหัวไหล่ ปีกบนและโคนหางด้านบน มีแถบสีขาว บริเวณอกเรื่อยไปถึงท้องเป็นสีน้ำตาลออกส้ม หางสีน้ำตาลเข้มที่ปลายหางมน ขาและนิ้วเป็นสีดำ ส่วนตัวเมียจะมีสีที่จางกว่า หัวลำตัวและปีกสีน้ำตาลมีลายขีดสีน้ำตาลเข้ม ใต้โคนปาก คอหัวไหล่ ขอบปีกบน และโคนใต้หางเป็นสีขาว ส่วนอกและท้องสีน้ำตาลเหลืองออกส้มอ่อน หางสีน้ำตาลปลายหางมน ขาและนิ้วเป็นสีน้ำตาลออกดำ ส่วนบนของตาสีนวลออกขาว ใต้คางสีขาวและมีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดขวาง ช่วงอกถึงท้องเป็นสีน้ำตาลออกส้ม โคนหางด้านบนถึงก้นเป็นสีส้มอ่อนอมน้ำตาล หางเป็นสีน้ำตาล ขาและนิ้วเป็นสีน้ำตาลเข้ม

เรามักพบเห็นนกยอดหญ้าหัวดำอยู่โดดเดี่ยว เกาะอยู่บนยอดหญ้า,ยอดกิ่งไม้แห้งตามทุ่งหญ้า ท้องนา ช่วงฤดูผสมพันธุ์
พบอยู่เป็นคู่ หากินแมลง หนอน และไส้เดือนเป็นอาหาร มันจะบินโฉบจับแมลงที่บินผ่านมาในระยะสั้นๆ แล้วบินกลับไปเกาะกิ่งไม้ตามเดิม มันจะขยับปีกพร้อมกับกระดกหางขึ้นลงๆ เป็นจังหวะๆ และส่งเสียงร้องเรียกกันดังแชดๆ…แชดๆ อาจเป็นที่มาของชื่อนกยอดหญ้าหัวดำ ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนจะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ของนกชนิดนี้ มันจะช่วยกันสร้างรังเป็นรูปถ้วยอยู่ตามไม้พุ่ม ซึ่งรังนั้นทำด้วยหญ้าแห้งหรือใบไม้แห้งเล็กๆ มีขนนกอ่อนนุ่มรองพื้นรัง วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ตัวเมียจะกกไข่ เมื่อลูกนกออกจากไข่ ทั้งพ่อนกและแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาเลี้ยงลูก จนโตเต็มวัยก็บินจากไปใช้ชีวิตอิสระต่อไป

นกยอดหญ้าหัวดำ เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพ แต่ในประเทศไทยที่เป็นนกประจำถิ่นจะพบได้น้อย ส่วนใหญ่มักจะเป็นนกอพยพที่ย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาวซึ่งจะพบได้บ่อยและ พบได้ทั่วไปทุกภาค มีประชากรชุกชุม

รายการอ้างอิง :

วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน : นกยอดหญ้าหัวดำ. แนวหน้า. วันที่ 4 พฤศจิกายน 2555.

 – ( 164 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


4 + = eight

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>