หลังรับตำแหน่ง ผอ.ซิป้า ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2555 รวมระยะเวลา 3 เดือนเต็ม “ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว” อวดผลประเมินการปฏิบัติงานในปี 2555 อย่างไม่เป็นทางการของก.พ.ร.ซึ่งได้คะแนน 4.346 โดยมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้คือคะแนน 4.0
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ผลคะแนนการประเมินที่ได้ 4.346 สะท้อนให้เห็นว่า บุคคลภายนอกมีความเชื่อมั่นใน “ซิป้า” ซึ่งหมายรวมถึงพนักงานของซิป้า และผู้บริหาร ดังนั้นสิ่งที่จะเดินหน้าต่อจากนี้คือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ด้วยแผน “555” หรือ 5 พันธกิจ 5 ยุทธศาสตร์ และ 5 อุตสาหกรรมสำหรับ 5 พันธกิจ ประกอบด้วย กำหนดนโยบายอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย โดยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐหันมาใช้ซอฟต์แวร์ไทย, การพัฒนาผู้ประกอบการด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุน และแนะนำช่องทางการทำตลาด, ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมโดยเข้าสู่เชิงพาณิชย์, สนับสนุนการจดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่ซิป้าเพื่อให้คำปรึกษาในการประกอบ ธุรกิจ
ส่วน 5 ยุทธศาสตร์ คือ สร้างผู้ประกอบการให้มีชื่อเสียงในเวทีระดับโลก โดยเน้นการประกวดแข่งขัน และพาผู้ประกอบการไทยไปพบกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยอาศัยงานทางวิชาการ, ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, สร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ไทยโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง, ปรับปรุงกระบวนการทำงานในซิป้าเพื่อให้มีความคล่องตัว และเสริมสร้างความรู้ให้กับบุคลากรในซิป้าผ่านการจัดอบรม
และ 5 อุตสาหกรรม ที่จะส่งเสริม ได้แก่ อุตสาห กรรมท่องเที่ยว โลจิสติกส์ อาหารและการเกษตร การแพทย์ และอัญมณีเครื่องประดับ
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จากนี้จะเป็นการดำเนินงานภายใต้งบ ประมาณปี 2556 จำนวน 305 ล้านบาท แบ่งเป็น 85 ล้านบาทสำหรับใช้จ่ายค่าบริหารองค์กร และ 220 ล้านบาทเป็นการลงทุนโครงการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งภายในสิ้นเดือน พ.ย. นี้ จะเซ็นสัญญาดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้ประมาณ 30% ของโครงการทั้งหมด 30-40 โครงการ
รวมทั้งสนับสนุนให้บริษัทเอกชนใช้ซอฟต์แวร์ของคนไทย โดยซิป้าร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชนที่สนใจซื้อซอฟต์แวร์ไทยไปใช้งานเบื้องต้นอยู่ที่ บริษัทละ 3 ล้านบาท และปล่อยกู้ให้กับ 20 บริษัท รวมมูลค่า 600 ล้านบาท
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ปี 2554 มูลค่าตลาดรวมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีนี้ตลาดโดยรวมจะโตประมาณ 12% ดังนั้นแผนการกระตุ้นตลาดซอฟต์แวร์ของซิป้ายังเน้นผลักดันให้ผู้ประกอบการ ซอฟต์แวร์ไทยทำตลาดในประเทศไทยก่อนที่จะขยายตลาดสู่ต่างประเทศ
“แนวคิดการผลักดันผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยทำตลาดในต่างประเทศ มี 2 ส่วน คือ หาพันธมิตรในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อเมริกา และออสเตรเลีย นำซอฟต์แวร์ไทยไปขายในแต่ละประเทศ ซึ่งคาดว่าภายใน 1 ปีจะสามารถผลักดันซอฟต์แวร์ไทยไปขายในตลาดต่างประเทศผ่านพันธมิตรได้ประมาณ 10 ราย ขณะที่การทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนหลังเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (เออีซี) จะใช้กลยุทธ์ร่วมสร้างแบรนด์อาเซียน โดยรวมจุดเด่นของซอฟต์แวร์แต่ละผู้ประกอบการในแต่ละประเทศ แล้วจัดทำเป็นแพ็กเกจเพื่อขายซอฟต์แวร์ให้กับลูกค้าในยุโรป ภายใต้แบรนด์ซอฟต์แวร์อาเซียน”
รายการอ้างอิง :
น้ำเพชร จันทา.’ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว’ โชว์แผน ’555′ ดัน ‘ซิป้า’ ขับเคลื่อนอุตฯซอฟต์แวร์ไทย. วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2555.– ( 88 Views)