magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ร่วมชื่นชม ‘สมบัติชาติ’
formats

ร่วมชื่นชม ‘สมบัติชาติ’

ซองพลูตามลำดับชั้นยศที่แตกต่างไป

ผ่านการบูรณะครั้ง ใหญ่เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ “ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญกษาปณ์” พิพิธภัณฑ์จัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์

โดยครั้งนี้ ถือเป็นการปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 หลังจากเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมมานานกว่า 30 ปี
ทั้งนี้ นริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้เปิดเผยถึง ทรัพย์สินมีค่าของไทย ในการดูแลของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดกว่า 97,000 ชิ้น และได้นำมาคัดเลือกเพื่อนำมาจัดแสดงใน ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ เป็นจำนวนกว่า 1,700 ชิ้น ว่า อันที่จริงแล้ว “ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน” หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องในพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงสิ่งของที่พระราชทานแก่ขุนนาง หรือข้าราชการระดับสูง สร้างขึ้นด้วยเงินแผ่นดิน

ภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดแยกทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ออกจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเก็บรักษาไว้ในกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งภายหลังได้ยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของกรมธนารักษ์ จึงเป็นที่มาของบทบาทหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ของกรมธนารักษ์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สำหรับการปรับปรุง ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ ในครั้งล่าสุดนี้ ใช้เวลาปรับปรุงนานกว่า 1 ปี ใช้งบประมาณกว่า 42 ล้านบาท โดยได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ อาทิ AR (Augmented Reality Technilogies) ซึ่งเป็นระบบเสมือนจริงมาประกอบการจัดแสดง ให้ผู้เข้าชมได้มีปฏิสัมพันธ์ และสามารถเข้าใจถึงเรื่องราวเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จัดแสดงได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเสริมด้วยเทคโนโลยี 3D แสดงภาพ 3 มิติ และ VDO Halogram (360 องศา) ด้วย

“จากการนำเสนอผ่านสื่อผสม จะทำให้คนที่มาเยี่ยมชมเกิดความรู้สึกเหมือนได้สัมผัสกับทรัพย์สินใกล้ๆ สามารถหมุนดูภาพทรัพย์สิน พร้อมทั้งมีการบอกเล่าข้อมูลโดยสังเขปเพื่อการทำความเข้าใจที่ง่ายยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมธนารักษ์เอ่ย

พร้อมทั้งยังได้เปิดเผยถึง หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของการปรับปรุงใหญ่ในครั้งนี้ ว่า กรมฯ ได้พัฒนาเว็บไซต์ e-museum โดยใช้เทคโนโลยี Virtual Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ในลักษณะของการเดินชม (Walktrough) ตามแผนผังและภาพจำลองของพิพิธภัณฑ์จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินได้จากทุกแห่งทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง ทางเว็บไซต์ www.emuseum.treasury.go.th

สำหรับทรัพย์สินที่นำมาจัดแสดงแบ่งเป็น 4 หมวดคือ เครื่องราชอิสริยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เงินตราไทย และ ทรัพย์สินเบ็ดเตล็ด แบ่งเป็น 9 ห้องจัดแสดง โดยที่ยกให้เป็นไฮไลท์ คือ ชฎาพระกลีบ ซึ่งเป็นเครื่องศิราภรณ์ที่จัดสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1และยังมี แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ สำหรับปูลาดพระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อให้พราหมณ์ทำพิธี

และที่ได้รับความสนใจมากไม่แพ้กัน คือ เครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต 3 ฤดู ซึ่งกรมธนารักษ์ได้จัดสร้างขึ้นใหม่เพื่อถวายแด่องค์พระแก้วมรกต

นอกจากนี้ ภายในยังมีการจัดแสดงเครื่องประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือน และขึ้นพระอู่ ที่กำหนดขึ้นตามแบบโบราณราชประเพณี ซึ่งล่าสุดได้เชิญไปใช้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

ส่วนที่สำคัญและเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด นั่นคือ เครื่องราชอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีพระฉายาลักษณ์ในพระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี พ.ศ.2520

และยังมีการจัดแสดงภาพที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมทั้งพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ผู้ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์แรก และพระองค์ที่สองของไทยไว้ด้วย

พิพิธภัณฑ์ “ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ” เปิดให้บริการเฉพาะบางส่วนจัดแสดง และพร้อมจะเปิดให้เข้าชมอย่างสมบูรณ์แบบราวช่วงสิ้นปีนี้

อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30 – 16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ เว้นแต่วันที่มีพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม ท่านละ 10 บาท (เด็ก ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และพระภิกษีสามเณร ไม่เสียค่าเข้าชม) และหากสนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2226 0251-9 ต่อ 2209

รายการอ้างอิง :

ปานใจ ปิ่นจินดา. ร่วมชื่นชม ‘สมบัติชาติ’. กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : Society). วันที่ 8 ตุลาคม 2555.– ( 314 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


four + 9 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>