ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีผลงานจากสถาบันวิจัยไอเอ็มพี ซึ่งอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้เสนอเรื่องการพิสูจน์ว่า การทำงานของเครือข่ายเซลล์ประสาทในสมองนั้น มีหน้าที่ในการจำแนกสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยงานวิจัยนี้ศึกษารูปแบบภายในสมองที่ตอบสนองต่อเสียงต่าง ๆ ของหนู ซึ่งการพิสูจน์นี้เป็นการตอกย้ำว่า การส่งสัญญาณไปมาระหว่างเซลล์ประสาท หรือนิวรอน (neuron) แบบที่ทำกันในแวดวงโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network) นั้น ทำได้ใกล้เคียงกับสมองจริง ๆ
สมองเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์พยายามจะหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วสมองทำงานอย่างไร แต่คำตอบที่ได้นั้นยังไม่ลึกซึ้งพอ และตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจการทำงานของมันจริง ๆ เราก็ไม่สามารถสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเหมือนการทำงานของสมองมนุษย์ ได้ในความคิด ความรู้สึกของหลายท่าน เจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์น่าจะเก่ง ฉลาด คำนวณคล่องแคล่วว่องไวกว่าสมองของมนุษย์มากมายนัก สามารถคำนวณนิพจน์ที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็วว่องไว แต่แท้จริงแล้ว เรายังต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเหมือนสมองมนุษย์ได้อยู่เช่นกัน ระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันยังขาดความสามารถที่สมองมนุษย์ทำได้แบบง่าย ๆ ที่ดูเหมือนไม่ได้ใช้ความพยายามใด ๆ เช่น การรับภาพจากประสาทตาเข้ามา แปลผล แล้วบันทึกลงไปในสมองส่วนความจำ หรือรับภาพเข้ามา แล้วแปลผล เพื่อตีความว่า สิ่งที่เห็นนั้น เป็นภาพของอะไร ซึ่งปัจจุบัน ระบบคอมพิวเตอร์นั้นสามารถทำได้ แต่ทำได้กับงานเฉพาะบางงานเท่านั้น เช่น การอ่านตัวอักษรจากภาพ (โอซีอาร์: OCR) การอ่านป้ายทะเบียนรถ หรือความพยายามในการแยกแยะให้ได้ว่า ภาพของสถานที่ที่เห็นนี้ เป็นสถานที่ใด ซึ่งสมองทำหน้าที่นี้ได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถแยกแยะได้อย่างถูกต้อง ยึดหยุ่น และรวดเร็ว
นักวิทยาศาสตร์อยากสร้างสมองเทียมเพื่อทำหน้าที่ได้คล้ายสมองมนุษย์มากที่ สุด สามารถเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย และหลากหลาย มิใช่ทำได้เพียงแค่โครงข่ายประสาทเทียม ที่เรียนรู้ในเรื่องเฉพาะใด ๆ ได้อย่างจำกัดเท่านั้น จึงมีโครงการสร้างสมองเทียมเกิดขึ้นหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบลูเบรน (Blue Brain) ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 โดยจำลองลึกลงไปในเชิงชีววิทยามากขึ้น หรือกูเกิลเองก็ได้ทดลองสมองจำลองของตนเองที่ทำงานได้ซับซ้อนกว่าโครงข่าย ประสาทเทียมของคนอื่น ๆ มาก ตัวอย่างงานที่กูเกิลนำเสนอต่อสาธารณชนชิ้นหนึ่ง คือ การใช้หน่วยประมวลผลถึง 16,000 อัน ในการตะลุยค้นหาในอินเทอร์เน็ต เพื่อเลือกดึงทัมบ์เนล (Thumbnail) ถึงสิบล้านอันจาก ยูทูบ เข้ามาประมวลผล โดยผลลัพธ์ที่ได้ คือ มันสามารถเรียนรู้ว่า แมวมีหน้าตาเป็นอย่างไร และสามารถแยกแยะภาพแมวออกมาได้ โดยมนุษย์ไม่ต้องเตรียมตัวอย่างที่เป็นแมว หรือไม่ใช่แมวไปสอนมันอย่างที่เคยทำกับโครงข่ายประสาทเทียมโดยทั่วไปได้
อย่างไรก็ตาม สมองเทียมที่มีอยู่ ณ เวลานี้ ก็ยังด้อยกว่าสมองมนุษย์ของพวกเรามากมายนัก และคงอีกนานมาก กว่าจะมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานได้ใกล้เคียงกับความสามารถของสมองมนุษย์
“แต่ถ้าวันนั้นมาถึง โลกใบนี้อาจโดนเจ้าคอมพิวเตอร์และกองทัพหุ่นยนต์บุกยึดเหมือนในหนังไซไฟก็เป็นได้ครับ”.
รายการอ้างอิง :
สุกรี สินธุภิญโญ. สมองเทียม – 1001. เดลินิวส์ (ไอที). วันที่ 9 พฤศจิกายน 2555.– ( 149 Views)