กระตุ้นให้มีการป้องกันและการดูแลตัวเองของผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ให้กลับ มาใช้ชีวิตเป็นปกติอย่างมีคุณภาพ สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย ร่วมกับ หน่วยโรคภูมิแพ้ทั้งแผนกเด็กและผู้ใหญ่ จาก 13 โรงพยาบาลของรัฐ อาทิ รพ.จุฬาลงกรณ์, รพ.ศิริราช, รพ.รามาธิบดี, รพ.พระมงกุฎเกล้า ฯลฯ ตลอดจนความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยการสนับสนุนของบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น(ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรม “สัปดาห์รณรงค์ป้องกันโรคภูมิแพ้” ภายใต้แนวคิด “ชนะภูมิแพ้คว้าโอกาสให้ชีวิต” บริเวณลานอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นประธานเปิดงานภายในงานนอกจากมีบริการตรวจสุขภาพเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้เบื้องต้น ยังมีเสวนา “โรคภูมิแพ้…หายได้จริงหรือ?” โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ฯ เผยว่า โรคภูมิแพ้พบทุกเพศทุกวัยแต่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ สาเหตุเกิดจากพันธุกรรมและสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัจจัยจากมลพิษในอากาศ ฯลฯ โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่ โรคภูมิแพ้ทางจมูกพบกว่า 10 ล้านคน รองลงมาคือโรคหืดกว่า 5 ล้านคน และโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังกว่า 1 ล้านคน โรคภูมิแพ้ที่เรื้อรังและเป็นมากมีผลต่อคุณภาพชีวิตมากกว่าที่คนทั่วไปจะ ตระหนัก นั่นคือทำให้คนที่เป็นเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลียง่าย นอนไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวันและไม่สามารถออกกำลังอย่างที่ต้องการ กลายเป็นเสียโอกาสในชีวิตหลายประการ
อาการที่พบบ่อยของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ เป็นหวัดเรื้อรัง จาม คันจมูกบ่อย ๆ ไอบ่อยเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลง มีผื่นคันตามข้อพับ แขน ขา อาการปากบวม เกิดลมพิษขึ้นทันทีหลังกินอาหาร และยังมีอาการผิดปกติบางอย่างที่อาจทำให้คาดไม่ถึงว่ามีสาเหตุสืบเนื่องมา จากการเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น ผู้ที่มีอาการเสียดท้องบ่อย ๆ มีลมมากในท้อง อาจพบได้ในผู้ที่กลืนลมลงไปในท้องมาก อาการกรนเวลานอนตอนกลางคืน อาการคัดจมูกเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ เป็นต้น หากไม่แน่ใจควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมเพราะหากไม่รักษาโรคนี้อย่างถูก ต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ ผนังคออักเสบเรื้อรัง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หลอดลมอักเสบ หอบหืด ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ มีน้ำขังในหูชั้นกลาง จมูกไม่ได้กลิ่น หรือนอนกรน เป็นต้น
ดร.พญ.วิภารัตน์ มนุญากร หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า โรคภูมิแพ้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปฏิบัติตัวถูกต้องหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่าง ๆ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรักษาตามการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือฉีดวัคซีนโรคภูมิแพ้เป็น ประจำ สามารถลดอาการและป้องกันการเกิดได้ นอกจากนั้นควรทำความสะอาดบ้านและของใช้เป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่ในอากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง เช่น อาหารทะเล ถั่ว ไข่ นม และหลีกเลี่ยงภาวะอารมณ์ที่ตึงเครียด ไม่สบายใจ ซึ่งผู้ป่วยต้องคอยสังเกตว่าสารใดหรือภาวะสิ่งแวดล้อมใดทำให้เกิดอาการและ หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น จะช่วยบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ให้ลดลงได้มาก
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลโรคภูมิแพ้สามารถดูผ่าน www.allergyexpert.org นอกจากคำแนะนำยังมีแบบทดสอบโรคภูมิแพ้เบื้องต้น และไลน์ แชต การสนทนาปัญหาโรคภูมิแพ้กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงทุกวันพุธ ระหว่างเวลา 15.00-16.00 น. เว็บบอร์ดพูดคุยเรื่องโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ และคลิปวิดีโอผู้ป่วยที่แนะนำเคล็ดลับการดูแลตัวเองจนสามารถเอาชนะโรคภูมิ แพ้ได้.
รายการอ้างอิง :
เพิ่มโอกาสให้ชีวิตพิชิตภูมิแพ้. เดลินิวส์ (สังคมสตรี). วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555.
– ( 171 Views)