magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 55
formats

รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 55

นักวิจัย มช. และทีมวิจัยจากเอ็มเทค เจ้าของผลงานวัคซีนลูกผสมป้องกันไข้เลือดออก และเครื่องตรวจวัดคุณภาพอะลูมิเนียม

นักวิจัย มช. และทีมวิจัยจากเอ็มเทค คว้ารางวัล“นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2555” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้านประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นฯระบุเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์มากต่อวงการแพทย์และวงการอุตสาหกรรมของประเทศ ชี้รางวัลนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของ “เทคโนโลยี” ควบคู่กับ “วิทยาศาสตร์พื้นฐาน” อันจะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในอนาคต
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีการแข่งขันในอัตราที่สูงมาก ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและขาดอำนาจการต่อรอง

มูลนิธิฯ เห็นความจำเป็นต้องกระตุ้นอัตราการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาของประเทศอย่างเร่งด่วน จึงจัดให้มีการมอบรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่”  ขึ้นในปี 2545 คู่ขนานไปกับรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์   ทั้งนี้เพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน  และหวังว่ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ จะเป็น “แรงกระตุ้น” ให้นักวิทยาศาสตร์ไทยมีกำลังใจในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงเป็นเป้าหมายให้เยาวชนไทยมุ่งพัฒนาตนให้เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต

โดยในปีนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานวิจัยที่เสนอชื่อเข้ามามีคุณภาพสูงมาก ทั้งเนื้อหาสาระและระดับความน่าสนใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักเทคโนโลยีดีเด่นประเภทบุคลและประเภททีม ซึ่งทั้ง 2 รางวัลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดทั้งในวงการแพทย์ และวงการอุตสาหกรรม ส่วนนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่อีก 1 รางวัล ก็มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต เนื่องจากเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการคำนวณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

สำหรับในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นมี 2 รางวัลคือ รางวัลประเภทบุคคล ได้แก่ รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมมาใช้ตัดต่อยีนเชื้อไวรัสเด็งกี่ 4 ชนิด และสร้างไวรัสพันธุ์ผสมขึ้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชื้อไวรัสเดิมที่มีฤทธิ์รุนแรงให้อ่อนฤทธิ์ลง โดยผลจากงานวิจัยชุดวัคซีนตัวเลือกแบบเชื้อไวรัสตัวเป็นอ่อนฤทธิ์สำหรับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเด็งกี่ทั้ง 4 ชนิดชุดแรกได้ถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกในระดับอุตสาหกรรม

ส่วนรางวัลประเภททีม ได้แก่ คณะนักวิจัยและวิศวกรห้องปฏิบัติการวิศวกรรมการหล่อ หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การนำของ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการหน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ พร้อมด้วย นายอมรศักดิ์ เร่งสมบูรณ์ นายสมภพ เพชรคล้าย นายฤทธิไกร สิริชัยเวชกุล นายวิทยา สามิตร และนายนครินทร์ มูลรินทร์ วิศวกรวิจัยพัฒนา ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมการหล่อ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ พัฒนา“เทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพของอะลูมิเนียมเหลวสำหรับการผลิตงานหล่อคุณภาพสูง” ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการหล่ออะลูมิเนียมที่ต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัด วิเคราะห์ รวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมชุดคำสั่งเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะความสมบูรณ์ของเนื้องานและโครงสร้างทางโลหะวิทยา ที่สำคัญเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและคุณภาพสินค้าที่ผู้บริโภคพึงได้รับ

ขณะที่รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในปีนี้มี 1 รางวัล คือ ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี  คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จากผลงานวิจัยการพัฒนาอัลกอริทึม AMPสำหรับประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าทั่วโลกจากข้อมูลที่สังเกตจากดาวเทียมมิลลิมิเตอร์เวฟแบบพาสซีฟ ซึ่งเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของผลการประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าจากอัลกอริทึม AMP กับสัญญาณสะท้อนที่สังเกตโดยเรดาร์ Cloud Sat ที่อยู่บนดาวเทียม และเปรียบเทียบกับข้อมูลหยาดน้ำฟ้าที่สังเกตจากมาตรวัดฝนทั่วโลก โดยเวอร์ชั่นล่าสุดของอัลกอริทึมที่พัฒนาขึ้นคือ AMP เวอร์ชั่นที่ 5(AMP-5) ที่มีความถูกต้องแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีการขยายตัวสูง การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ จะทำให้ไทยเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เพราะภาพรวมในการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถพัฒนาต่อไปอย่างก้าวกระโดดได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังพร้อมกับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 55. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 7 ตุลาคม 2555.– ( 123 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ three = 6

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>