magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก “มหัศจรรย์กระจก”ครั้งแรกในภาคอีสาน
formats

“มหัศจรรย์กระจก”ครั้งแรกในภาคอีสาน

“นิทรรศการภาพสะท้อน” นำเสนอมุมภาพสะท้อนบนกระจกในรูปแบบที่ต่างกัน เชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับแสง โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน-อพวช.

นครราชสีมา – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา จับมือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เปิดใหญ่งาน “นิทรรศการภาพสะท้อน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค เผยนำเสนอในมุมภาพสะท้อนที่ปรากฏบนกระจกในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแสงพร้อมโชว์กระจกส่องผู้ต้องหาเป็นแห่งแรก ระบุใช้งบประมาณในการจัดทำกว่า 4ล้านบาท หวังเปิดโอกาสให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนชาวอีสานได้ศึกษาเรียนรู้การสะท้อนของแสง ซึ่งจัดแสดงต่อเนื่องเริ่มเดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป
ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ศาสตราจารย์ น.ท.ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ ดร. พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกันเป็นประธานเปิด “นิทรรศการภาพสะท้อน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการสะท้อนของแสงในรูปแบบต่างๆ ผ่านกระจก

สำหรับนิทรรศการภาพสะท้อน (Reflection Exhibition) เป็นนิทรรศการที่ใช้กระจกเป็นเนื้อหาหลัก โดยนำเสนอในมุมของภาพสะท้อนที่ปรากฏจากกระจกในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น หลักการของแสง การสะท้อนของภาพและแสง ประวัติ ขั้นตอนการผลิต และพัฒนาการของกระจก โดยการนำเสนอแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก จัดแสดงบนพื้นที่กว่า 650 ตารางเมตร มีกระจกรูปแบบต่างๆ รวมกว่า 25รูปแบบ ประกอบด้วย

โซน 1. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแสง ในโซนนี้จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับแสง เพราะการเห็นสิ่งต่างๆ ได้นั้นก็เพราะแสงมาตกกระทบกับวัตถุ โดยลักษณะการสะท้อนจะขึ้นอยู่กับชนิดและลักษณะของตัวกลางที่แสงตกกระทบ ชิ้นงานที่อธิบายความรู้เกี่ยวกับแสง คือ ใยแก้วนำแสง, กระจกส่องดูผู้ต้องหา,ภาพลวงตา, ค้นฟ้าคว้าเพชร, กระปุกออมสินลวงตา และ ภาพ 3 มิติ

โซน 2. ปรากฏการณ์ภาพสะท้อนจากแสง โซนนี้ทำให้ทราบว่า กระจกสามารถสะท้อนแสงและภาพได้อย่างไร ด้วยการศึกษาถึงประวัติการค้นพบกระจกและขั้นตอนการผลิตส่วนประกอบ ประเภท และการสะท้อนภาพของกระจก ชิ้นงานในโซนนี้สร้างสรรค์จากสิ่งที่ได้จากการสะท้อนของกระจก เช่น ศรีษะมายา,กระจกสร้างภาพ, ไม้กวาดเหินเวหา, เขาวงกตมายา และแท่นกระจกไม่รู้จบ เป็นต้น

โซน 3. เลื่อมพรายสายรุ้ง สิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่มีลักษณะปรากฏคล้ายกระจกในตัวของมัน ด้วยความสวยงามจากสีสันของกระจกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราเรียกกระจกในสิ่งมีชีวิตว่า “เลื่อมพรายสายรุ้ง” (Iridescent Wilderness) ซึ่งสิ่งที่คล้ายกระจกนี้ เกิดจากสารประกอบหลายชนิด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต ไคตินเคอราติน หรือสารโปรตีน เราพบเลื่อมพรายรุ้งในสิ่งมีชีวิต เช่น ปีกผีเสื้อ แมลงทับ หอยมุก หางปลากัด ผิวหนังของงู และเส้นผมมนุษย์

ศ.น.ท.ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ อพวช. ในการร่วมกันสร้างกิจกรรมด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สาธารณะ รวมถึงการเผยแพร่ผลการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์กิจกรรมของทั้ง 2หน่วยงานให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อภาคประชาชน และเสริมสร้างให้ภาคประชาชนของประเทศมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทั้ง 2 หน่วยงานต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่บุคลากรของแต่ละหน่วยงาน โดยการแลกเปลี่ยนวิทยากรเพื่อให้ความรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ สำหรับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และให้บริการด้านแสงซินโครตรอนแก่นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ มีความร่วมมือกับทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับชั้นนำของประเทศเพื่อให้นักวิจัยเข้ามาใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน ในการพัฒนาขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

ดร. พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า การจัดแสดง “นิทรรศการภาพสะท้อน”ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาค และครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นกิจกรรมแรกในการลงนามความร่วมมือของ 2 สถาบัน ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน และมีบางชิ้นที่พัฒนาให้มาใหม่ เช่น กระจกภาพ 3 มิติ และกระจกส่องผู้ต้องหา เป็นต้น โดยใช้งบประมาณในการจัดสร้างกระจกในรูปแบบต่าง ๆ นี้กว่า 4 ล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อต้องการให้นิทรรศการดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการสะท้อนของแสง โดยงานนี้จะจัดแสดงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย. 55 เป็นต้นไป ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และในวันเด็กปี 2556 ทางสถาบันฯ จะจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเชิญชวนให้เด็ก ๆ และเยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ นอกจากนี้ อพวช. ยังมีโครงการที่จะจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อนำวิทยาศาสตร์ออกไปสู่เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศ พร้อมดึงท้องถิ่นเข้ามาร่วมซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวให้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมชมนิทรรศการภาพสะท้อน ดังกล่าวได้ในวันเวลาราชการ โดยติดต่อส่วนงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2 เชื่อว่าทุกท่านจะได้สัมผัส เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ และได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกที่อยู่รอบๆตัวเรา

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2 โทรสาร 0-4421-7047
อีเมล : pr@slri.or.th

รายการอ้างอิง :

“มหัศจรรย์กระจก”ครั้งแรกในภาคอีสาน. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่  13 พฤศจิกายน 2555.– ( 168 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


2 + seven =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>