magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก บาร์โค้ดล่องหน
formats

บาร์โค้ดล่องหน

อัพเดตเทคโนโลยีบาร์โค้ดกับ ดร.อดิสร แห่งเนคเทค ล่าสุดที่กำลังจะมาคือ บาร์โค้ดล่องหน เพื่องานเกี่ยวกับการป้องกันการปลอมแปลง

แถบรหัสสินค้าหรือที่เรียกว่า บาร์โค้ด (Barcode) เป็นสิ่งที่เราคุ้นตา เพราะมันปรากฏอยู่บนสินค้าแทบทุกชนิด เป็นลักษณะแถบเส้นแนวตั้ง เรียงเป็นแถวและมีตัวเลข 13 หลักเรียงอยู่ข้างใต้ พนักงานจะมองหามัน ตอนที่เราจะจ่ายเงินชำระสินค้า
บาร์โค้ดไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะเวลาที่จะจ่ายเงินเท่านั้น ยังมีประโยชน์มากมายตั้งแต่ตอนผลิตสินค้า ขนส่งและจัดเก็บสินค้า จนกระทั่งตอนขายสินค้า เพราะจะทำหน้าที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าชิ้นนั้นๆ ว่า ผลิตที่ประเทศอะไร มาจากบริษัทอะไร และรายละเอียดเกี่ยวกับล็อตที่ผลิตและสินค้าที่ผลิต

ดังนั้น บาร์โค้ดเป็นเสมือนกับเลขประจำตัวของสินค้าชิ้นนั้นๆ เหมือนกับเราทุกคนต้องมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขพาสปอร์ตเวลาไปต่างประเทศ บาร์โค้ดที่กล่าวมาเป็นแบบที่เรียกว่า 1 มิติ เพราะเก็บข้อมูลเป็นแถบแนวเดียว เวลาอ่านใช้แสงเลเซอร์สีแดงๆ ส่องให้แสงพาดผ่านเท่านั้น

ปัจจุบันยังมีบาร์โค้ดอีกแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยม มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลวดลายเป็นจุด ลักษณะเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ บรรจุอยู่ภายในสี่เหลี่ยมใหญ่ เรียงกันแบบสองมิติหรือเป็นเมตริกซ์ บาร์โค้ดแบบนี้เราเรียกว่า คิวอาร์โค้ด (QR Code : Quick Response Code) มันจะเก็บข้อมูลประจำตัวของสินค้านั้นๆ ได้มากกว่าเดิม รวมทั้งสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับ URL Link ที่จะเชื่อมโยงได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

เวลาจะสแกนหรืออ่านคิวอาร์โค้ดก็แสนง่าย เดี๋ยวนี้เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือของเราที่มีกล้อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์หรือไอโฟน โดยเพียงลงโปรแกรมแอพที่ทำหน้าที่อ่านคิวอาร์โค้ดเท่านั้น สะดวกและรวดเร็วมาก

แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ารหัสสากลทั้งสองแบบ เรามองเห็นมันได้ สามารถถ่ายรูปหรือก๊อปปี้ เพื่อจดจำและทำซ้ำได้ มันจึงเหมาะกับการเก็บข้อมูลซึ่งไม่ได้เป็นความลับ สามารถเปิดเผยได้ เช่น ใช้เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการตรวจย้อนกลับสินค้าเท่านั้น

แต่ลองคิดดูว่า เราอยากที่จะเปิดเผยข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนของเราให้คนอื่นรู้หรือไม่ รับรองว่าไม่มีทาง เพราะจะไม่ปลอดภัย ดังนั้น จึงมีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่สามารถพิมพ์บาร์โค้ดหรือรหัสลงบนสินค้าแล้วมันมองไม่เห็น คือแทนที่จะพิมพ์ด้วยหมึกสีดำก็จะถูกพิมพ์ด้วยหมึกล่องหน จึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ยังมองเห็นได้ด้วยกล้องบนโทรศัพท์มือถือ

นักวิจัยที่ South Dakota School of Mine ประสบความสำเร็จในการผลิตหมึกที่ประกอบด้วยอนุภาคขนาดนาโนที่ทำมาจากแร่ Lanthanide เมื่อผสมในหมึกใส มันจะเรืองแสงเมื่อถูกกระตุ้นด้วยคลื่นแสงในช่วงคลื่นใกล้กับอินฟราเรด (Near-Infrared Light) เท่านั้น ดังนั้น จึงถูกนำมาพิมพ์คิวอาร์โค้ดที่ล่องหนได้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้งานเกี่ยวกับการป้องกันการปลอมแปลง (Counterfeit)

นับว่าเป็นเทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงใหม่ล่าสุด เพื่อหนีพวกที่ชอบผลิตของปลอม และทำให้ข้อมูลของเราปลอดภัยยิ่งขึ้น

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์
ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
เมธีวิจัย สกว.

รายการอ้างอิง :

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์. บาร์โค้ดล่องหน. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555.– ( 297 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− 2 = six

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>