น้ำมันจะถูกเขี่ยออกนอกเส้นทาง อนาคตอันใกล้ “ฮีโร่ตัวใหม่” อย่าง “ก๊าซ” พัฒนาตัวเองให้มีฟังก์ชั่น หลากหลาย ให้ผู้บริโภคเลือกหยิบใช้ตามใจชอบ
ก๊าซ ตัวเลือกมาวิน??
หลายประเทศทั้งในอเมริกาและยุโรป เลือกใช้ก๊าซเป็นพลังขับเคลื่อนหลัก เพราะใช้งานง่ายและราคายังไม่สูงมากนัก ในขณะที่ไทยมีอัตราใช้ก๊าซไม่สูงเท่า ทั้งที่เรามีพาหนะจำนวนมาก พอๆกับประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น
เหตุผลเพราะเราขาดความเชี่ยวชาญในเทคนิคการติดตั้ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุก๊าซรั่วระเบิด ภายหลังการใช้งาน ผู้บริโภคจึงขาดความเชื่อมั่นไม่ว่าจะเป็น LPG ที่มักใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคล หรือ NGV สำหรับเชิงพาณิชย์ พวกมันสามารถนำมาใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการซับซ้อนหลายขั้นตอนเหมือนพลังงานทดแทนอื่นก็ตาม
แต่ หนึ่ง-สุรศักดิ์ นิตติวัฒน์ ประธานกรรมการบริษัท เอนเนอร์จี รีฟอร์ม จำกัด กล่าวว่า จำเป็นต้องเลือกแหล่งผลิตจากต้นฉบับแห่งการสร้างสรรค์ และสร้างฟังก์ชั่นการใช้งานให้เหมาะสมกับยานพาหนะในแต่ละประเทศด้วย
“อาจจะมีผู้ผลิตจากหลากหลายประเทศ แต่ประเทศต้นกำเนิด (Country of Origin) คือทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งอิตาลีเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ แต่ก็ไม่อาจนำของเขามาใช้ได้ทันที เพราะอย่าลืมว่ารถยนต์ในบ้านเรามาจากหลายแหล่ง ระบบภายในไม่เหมือนกัน เราต้องเอามาประกอบใหม่ให้ถูกกับรถแต่ละคันด้วย”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ไทยมีศักยภาพเพียงพอในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า จึงทำงานร่วมกับวิศวกรของอิตาลี “สั่งตัด” สินค้าที่เหมาะกับรถยนต์ในไทย
สุรศักดิ์ ขยายความเทคโนโลยี “แฮนเมด” ของเขาว่า กรณีของรถใหม่ที่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมอยู่แล้ว เหมาะกับการติดตั้งแก๊สที่เป็นลักษณะกล่องสมบูรณ์ (Complete Kit) ที่เขาและวิศวกรร่วมกันคิดค้นให้มีตัวอ่านสัญญาณ (ECU) หม้อต้มแก๊ส รางหัวฉีด และ มัลติวาล์ว แต่สำหรับรถที่เก่าลงมาหน่อยอาจต้องมีอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มขึ้นหรือลดลงอีกเล็กน้อย
ส่วนเทรนด์อัพเดทของก๊าซ กำลังพัฒนาไปสู่การเชื่อมสัญญาณสั่งการในรถยนต์ ที่มีความลึกลับซับซ้อนได้มากขึ้น เช่น ปรับจ่ายแก๊สเพิ่มหรือลดได้เองโดยอัตโนมัติ แม่นยำ ปลอดภัยและมีเสถียรภาพสูงสุดเทียบเท่าน้ำมัน รวมทั้งช่วยเร่งจังหวะการอัดฉีดของเครื่องยนต์ และประหยัดน้ำมัน
อีกทั้งยังต้องใส่ความหรูหราขึ้นตามลักษณะเฉพาะของรถยนต์รุ่นต่างๆได้ ตลอดจนถังแก๊ส ที่ดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลง และเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นโดนัท วางแทนตำแหน่งยางอะไหล่ จึงไม่กินพื้นที่ใช้งานของผู้ขับขี่ลงได้มากกว่า 15% เมื่อเทียบกับถังทรงกระบอกแบบเดิม
“ถึงแม้จะมีข้อดีให้เห็นมาก และกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันยังมีข้อจำกัดในการติดตั้งสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ยังไม่สมบูรณ์นัก อีกทั้งสมองกลในรถยนต์ยังไม่ฉลาดพอที่จะแจ้งได้ว่ามันเสียที่จุดไหน แต่นั่นก็เป็นข้อดีให้เรารู้ว่า ทิศทางของก๊าซควรพัฒนาไปในทิศทางใดและอย่างไร” สุรศักดิ์กล่าว
ไฮบริดติดก๊าซได้ !!
ถึงแม้ว่าทัศนคติของผู้บริโภคตอนนี้จะเปลี่ยนไป ทุกคนรับรู้ทิศทางราคาก๊าซเมื่อปล่อยลอยตัวแล้วว่า LPG จะปรับขึ้นที่ประมาณ 16 ต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 12 บาทต่อลิตร ส่วน NGV จะปรับราคาขึ้นไปที่ 14.50 บาทต่อลิตร (ปัจจุบัน 8.50 ต่อลิตร) ในขณะที่น้ำมันเบนซินปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 37-45 บาทและในอนาคตอาจสูงถึง 50 บาทก็เป็นไปได้ จึงชัดเจนว่าราคาก๊าซถูกกว่าน้ำมันดีเซลเกินครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ใช้ก๊าซย่อมประหยัดกว่าน้ำมันแล้ว
แต่นวัตกรรมก๊าซยังไม่สิ้นสุด เมื่อวิศวกรบริษัท THE INNOVATION OF GAS TECHNOLOGY 4 in 1 (ENERGY REFORM Advanced-OBD 4.0) คิดค้นเทคโนโลยีระบบก๊าซ LPG และ NGV (CNG) ที่ติดตั้งในรถยนต์ไฮบริดได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ โดยปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในงาน “NGV Bangkok 2012”ที่จะจัดขึ้นเมื่อ1-3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ENERGY 4.0 คิดค้นขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพระบบก๊าซ Premium และขีดความสามารถวิศวกรที่สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว มาพัฒนาร่วมกับอิตาลีให้ทำงานได้อย่างสัมพันธ์กันในรถยนต์ไฮบริด ไม่เพียงแต่จะติดตั้งได้เฉพาะระบบก๊าซ LPG หรือ NGV อย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น แต่ยังสามารถติดตั้งระบบก๊าซได้พร้อมกัน 2 ชนิด คือ ทั้ง LPG และ NGV ในรถยนต์ไฮบริดคันเดียวกัน โดยไม่ทำให้สมรรถนะและอรรถประโยชน์ของรถยนต์คนนั้นๆสูญเสียไปในทางกลับกัน ยังช่วยประหยัดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
ที่สำคัญยังสามารถใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้ 4 ชนิดในรถคันเดียว คือ น้ำมัน, ระบบไฟฟ้า, ก๊าซ LPG และ NGV ได้ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก
“เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า รถยนต์ไฮบริดสามารถติดตั้งระบบก๊าซได้ ระบบก๊าซไม่ได้เป็นโลว์เทคโนโลยีอีกต่อไป รวมทั้งยังสะท้อนความคิดนอกกรอบของเราที่นำอุปกรณ์เดิมมาต่อยอดและพัฒนาให้ใช้งานร่วมกับรถยนต์ไฮบริดได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยฝีมือของคนไทย”
ภายในปี 2555 สุรศักดิ์เผยว่า เขาเตรียมสร้างปรากฏการณ์ใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานอีกขั้นให้วงการอุตสาหกรรมติดตั้งก๊าซในรถยนต์ ด้วยการเปิดศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ต้นแบบที่ลาดกระบัง พร้อมดำเนินกลยุทธ์สื่อสารทางการตลาดกับผู้บริโภคแบบ 360 องศา เพื่อให้รับรู้ข้อเท็จจริงว่า การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพกับผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ มีมาตรฐานการบริการทั้งก่อนและหลังการขาย มีเครือข่ายครอบคลุมและให้การดูแลตลอดอายุการใช้งาน ดีกว่าเลือกการติดตั้งกับอู่ริมถนนที่เน้นราคาถูก แต่ต้องเสี่ยงกับความเสียหายของเครื่องยนต์
รายการอ้างอิง :
ชฎาพร นาวัลย์. พลังก๊าซ ไร้ขีดจำกัด. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555.– ( 119 Views)