หลังจากที่ รศ.ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสารจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการห่อหุ้มน้ำหอม และควบคุมการปลดปล่อยให้น้ำหอมคงความหอมได้ยาวนาน โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้โครงการ “น้ำหอมจากไคโตซาน” และ “สารสกัดออกฤทธิ์ไธมอลระดับนาโนเมตร”
ต่อมาได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัท เวลเทค ไบโอเทคโนโลยี่ โปรดักส์ จำกัด โดย น.สพ.วินัย โชติเธียรชัย ได้พัฒนาต่อยอดจนเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อการค้า Chitora และนำผลิตภัณฑ์จากดังกล่าวเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีในอตสาหกรรมเครื่องสำอางระดับภูมิภาคเอเชีย ” In- Cosmetics Asia 2012″ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
น.สพ.วินัย เปิดเผยว่า ไคโตซานหอมพัฒนาขึ้นจากสารพอลิเมอร์ธรรมชาติ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยมาก อีกทั้งเป็นระบบกักเก็บด้วยกลไกสองระบบที่เรียกว่า double barrier fragrance release system คือการปลดปล่อยน้ำหอมต้องผ่านทั้งการแตกพันธะเคมีและการแทรกตัวผ่านอนุภาคนาโนออกมาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่อง จึงช่วยขยายความหอมของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ยาวนานขึ้น
ระบบนี้ถูกสร้างและนำเสนอขึ้นมาโดยงานวิจัยนี้เป็นครั้งแรก อีกทั้งใช้งานง่ายเนื่องจากอนุภาคสามารถกระจายตัวได้ในน้ำโดยตรง จึงสามารถตัดปัญหาการใช้แอลกอฮอล์ช่วยละลายน้ำหอมออกไป นอกจากนี้อนุภาคน้ำหอมยังมีความเสถียรสูงมาก ทนต่อการโฮโมจีไนซ์ การปั่น การตีได้ดีมาก และทนความร้อนได้ประมาณ 150 องศาเซลเซียส สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความหอมเกือบทุกประเภท อาทิ เครื่องสำอาง อาหาร น้ำหอมปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องผสมน้ำหอมในปริมาณมาก แต่ผลิตภัณฑ์ยังคงความหอมอยู่ได้เมื่อถึงมือผู้บริโภค จึงเป็นการประหยัดน้ำหอมและลดโอกาสในการเกิดอาการแพ้ผลิตภัณฑ์มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการแพ้น้ำหอมหรือสารให้ความหอมที่ผสมอยู่
ส่วนสารระเหยไธมอลนั้นสกัดจากน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย แล้วทำการกักเก็บลงในอนุภาคขนาดไมโครไปจนถึงนาโน เพื่อทำให้การระเหยหรือการสลายตัวของสารสกัดช้าลง จึงสามารถผสมลงในสูตรผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำยาบ้วนปาก ครีม โลชั่น แทนการใช้สารกันบูดสังเคราะห์ โดยไม่ต้องมีการใช้แอลกอฮอล์ช่วยละลาย เนื่องจากกระจายตัวในน้ำได้ดีโดยไม่ต้องใช้สารลดแรงตึงผิวช่วย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อแบคทีเรียเทียบเท่ากับน้ำมันหอมระเหยที่ไม่ได้กักเก็บ แต่สามารถคงอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้เป็นเวลานานกว่า ทำให้ผลิตภัณฑ์มีสภาพปลอดเชื้อที่ยาวนานกว่า
“ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายไคโตซานหอมและไธมอลในต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งในปีนี้ทางบริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถประยุกต์ใช้หลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น ไคโตซานหอมห่อหุ้มน้ำมันหอมระเหยใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก ไคโตซานหอมห่อหุ้มน้ำหอมที่ใช้กับเครื่องสำอางบำรุงผิวกาย น้ำยาปรับผ้านุ่ม และแป้งฝุ่นโรยตัว ส่วนไธมอลนั้นหลังจากได้นำเสนอลูกค้าภายในประเทศในปีที่ผ่านมา บริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธภาพการยับยั้งยีสต์และรา รวมถึงแบคทีเรียอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น สำหรับสินค้าใหม่ที่ออกแสดงในปีนี้ ได้แก่ ซิลโคซาน ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากไคโตซาน เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ใช้เป็นส่วนประกอบในครีมนวดผมหรือครีมหมักผม มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับซิลิโคน คือช่วยปิดเกล็ดผม ทำให้ผมนุ่มลื่น ชุ่มชื้น แต่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันบนหนังศีรษะ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดรังแคและผมหลุดร่วง”
รายการอ้างอิง :
หอมทนนานด้วยนาโนเทค. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555.– ( 306 Views)