เครื่องช่วยฟัง ดิจิตอล ใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก สามารถปรับแต่งการทำงานผ่านคอมพิวเตอร์
การสูญเสียการได้ยินเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างลำบาก การพัฒนาเครื่องช่วยฟังซึ่งทำหน้าที่ขยายและปรับแต่งสัญญาณเสียงตามที่กำหนดได้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อให้สามารถได้ยินเสียงและดำเนินชีวิตอย่างปกติ แต่เครื่องช่วยฟังส่วนใหญ่นั้นยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศอีกทั้งมีราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้ผู้ต้องการใช้ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ทั่วถึง
นอกจากนี้ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2550 ยังพบว่าจำนวนผู้พิการจำนวนมากในประเทศไทยถึง 1.9 ล้านคน แบ่งเป็นผู้พิการอายุระหว่าง 15-30 ปีจำนวน 2.3 แสนคน ผู้พิการที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมี 1.8 ล้านคน โดยจำนวนเหล่านี้ยังรวมถึงผู้พิการทางการได้ยิน
จุดเริ่มต้นการทำงาน
ความพยายามในการหาแนวทางพัฒนาเครื่องช่วยฟังดิจิตอล และมีการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานที่ต้องการความทนทาน อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้มีราคาประหยัดจึงเกิดขึ้นด้วยฝีมือนักวิจัยไทย
ณ สถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก (REAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นที่จะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกด้วยหลักการการออกแบบที่ครอบคลุม พร้อมทั้งผลักดันผลงานสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่าย เพื่อให้การทำงานวิจัยและพัฒนามีความยั่งยืน และมีการเผยแพร่ผลงานในเชิงพาณิชย์เพื่อคนพิการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ด้วยความหวังว่าผลงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพ ชีวิตคนพิการได้เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน
ดร.พศิน อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก สถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (REAT) เนคเทค กล่าวว่า “สถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพฯเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ เรื่องการสูญเสียการได้ยินเป็นความพิการหลักอย่างหนึ่งของประเทศ บางคนอาจไม่ทันสังเกตเพราะเป็นความพิการซ้อนเร้น บางคนหูเสียแต่ยังพอได้ยินจึงกลับคิดว่าตนไม่ได้เป็นคนที่มีความบกพร่อง ซึ่งกลุ่มคนที่มีความสูญเสียการได้ยินในระดับที่ถูกจัดว่ามีความพิการอาจมีประมาณมากกว่า 280 ล้านคนทั่วโลก หรือเฉลี่ยประมาณ 4% โดยถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนาก็มีจำนวนมากกว่านั้น ซึ่งหากคิดเป็นตัวเลขก็ค่อนข้างสูง” และเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุดังเช่นทุกวันนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ทางเลือกใหม่ ตัวช่วยหู
การสูญเสียการได้ยินนั้นมีหลายประเภท ได้แก่ ประเภทแรกที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ชนิดประสาทหูเสื่อมซึ่งเกิดจากประสาทรับเสียงบริเวณก้นหอยขาดหายหรือได้รับความเสียหาย ชนิดการนำเสียงบกพร่อง หมายถึงความผิดปกติบริเวณหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลางซึ่งปิดกั้นไม่ให้เสียงถูกส่งต่อไปยังหูชั้นในอย่างสมบูรณ์ การสูญเสียการได้ยินชนิดผสมเป็นอาการร่วมระหว่างการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทหูเสื่อมและชนิดการนำเสียงบกพร่อง และสุดท้ายคือ ชนิดเส้นประสาทควบคุมการได้ยินบกพร่อง เกิดจากการที่เส้นประสาทการได้ยินหรือเส้นประสาทคู่ที่ 8ไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมองได้
การสูญเสียการได้ยินเหล่านี้ยังจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และหากสามารถใช้ตัวช่วยของหูคือเครื่องช่วยฟังเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวได้ ก็จะเป็นทางเลือกให้ผู้พิการสามารถกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง
งานวิจัยเครื่องช่วยฟังดิจิตอลจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาสินค้าทางการแพทย์ที่มีราคาเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะสร้างเทคโนโลยีของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า
ดร.พศิน กล่าวว่า “บ่อยครั้งที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสูญเสียการได้ยินจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง แต่เครื่องช่วยฟังส่วนใหญ่ในประเทศยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งบางประเภทมีราคาค่อนข้างสูง สวทช.เนคเทค จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมบริการด้านเครื่องช่วยฟัง เพื่อให้เอกชนนำผลงานไปพัฒนาต่อยอดให้คนไทยได้ใช้เป็นทางเลือก”
กระบวนการทำงานเครื่องช่วยฟังดิจิตอล
หัวหน้าห้องปฎิบัติการฯ กล่าวอีกว่า “กระบวนการทำงานเครื่องช่วยฟังจะมีฟังก์ชั่นเบื้องต้น คือ การขยายเสียง ซึ่งการขยายจะต้องถูกปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถกำหนดให้ระดับความดังในย่านความถี่ต่างๆมีกำลังแตกต่างกันได้ตามลักษณะการสูญเสียการได้ยินของบุคคลนั้นๆ
นอกจากนี้ยังต้องมั่นใจว่ากำลังขยายสามารถถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่ดังเกินไปจนเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้
สำหรับข้อดีโดยทั่วไปของเทคโนโลยีดิจิตอล คือ มีความเสถียรของสัญญาณเสียงมากกว่าระบบอนาล็อก และปรับแต่งได้ละเอียดกว่า เครื่องช่วยฟังที่เป็นระบบดิจิตอลก็มีบริการในเมืองไทย แต่ยังมีราคาที่สูงงานวิจัยนี้จึงพยายามทำเครื่องช่วยฟังดิจิตอลให้มีตลาดในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น”
มาตรฐานระดับสากล
ดร.พศิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “เครื่องช่วยฟังดิจิตอลที่พัฒนาขึ้นนี้ยังได้ทำการทดสอบตามมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์จึงต้องทำการทดสอบทางคลินิกซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเครื่องต้นแบบไปทดสอบระยะยาว ผลที่ได้รับก็พึงพอใจและเพิ่มความมั่นใจในการนำมาใช้งาน
ต่อยอด สู่การใช้งานจริง
หลังจากนั้นทีมวิจัยจึงได้มีการให้สัญญาอนุญาตใช้สิทธิผลการวิจัยแก่บริษัทเอกชน เพื่อพัฒนาเป็นอุปกรณ์ในระดับอุตสาหกรรมที่จะเข้าสู่ระบบบริการได้จริง “ปัจจุบันเราก็ทำการไลเซ่นให้บริษัทเอกชนไปเตรียมพร้อมการผลิตเข้าสู่ระบบบริการซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย และคาดหวังว่าจะเป็นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้”
จุดเด่น เครื่องช่วยฟังดิจิตอล
หัวหน้าห้องปฎิบัติการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้อุปกรณ์หลายส่วนในการผลิตเครื่องช่วยดิจิตอลยังจำเป็นต้องนำเข้าแต่เป็นความตั้งใจที่จะผลิตให้มีค่าใช่จ่ายจริงประหยัดกว่าเครื่องจากต่างประเทศ เนื่องจากเครื่องช่วยฟังดิจิตอลไม่ใช่เพียงแค่ซื้อครั้งเดียวแต่ยังต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อมาด้วย คือ เครื่องช่วยฟังปกติจำเป็นต้องใช้ถ่านชนิดพิเศษราคาประมาณ 50 บาทการใช้ถ่านก็ขึ้นอยู่กับสเปคของเครื่องในแต่ละรุ่นที่ไม่เหมือนกัน บางรุ่นอาจต้องมีการเปลี่ยนถ่านบ่อยครั้งทุกๆเดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นพอสมควร”
จุดเด่นของเครื่องช่วยฟังดิจิตอล จึงได้มีการออกแบบให้สามารถใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก สามารถปรับแต่งการทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ โดยใช้ซอฟต์แวร์การปรับแต่งเครื่องเป็นรูปแบบภาษาไทย ลดระยะเวลาให้นักแก้ไขการได้ยิน และยังมีฟังก์ชั่นเสริมสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีบลูทูธได้
นอกจากนี้บริษัทเอกชนที่นำเทคโนโลยีนี้ไปถ่ายทอดยังมีการปรับแต่งรูปทรงสีสันให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนและความมีคุณภาพของเสียง เป็นต้น
การทำงานวิจัย เครื่องช่วยฟังดิจิตอล จึงนอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่ ฝีมือนักวิจัยไทยแล้ว สิ่งที่น่าภูมิใจอีกอย่างคือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ข้อจำกัดและให้ความสำคัญกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการทางการได้ยิน
รายการอ้างอิง :
เครื่องช่วยฟังดิจิตอลแบบประหยัด ตัวช่วยหู เพื่อผู้พิการไทย. กรุงเทพธุรกิออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 25 พฤศจิกายน 2555.
– ( 229 Views)