magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก เมล็ดมะตาด บำรุงเส้นผม
formats

เมล็ดมะตาด บำรุงเส้นผม

ช่วง ต.ค.-พ.ย.เป็นเวลาสุกของผลไม้พื้นบ้าน ที่ชื่อ “มะตาด” ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ขณะที่คนโบราณหรือคนท้องถิ่น ใช้ประโยชน์มากมายจากพืชนี้

* ผศ.ดร.ไชยยง รุจจนเวท
หัวหน้าสาขาวิชาพรีคลินิค
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
chaiyong@mfu.ac.th

แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยมีวัฒนธรรมการกินที่ผูกพันธ์กับฤดูกาล ด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นตัวกำหนดการผลิดอกออกผลของพืชผัก หน้าร้อนจึงเป็นเวลาของ มะม่วง ทุเรียน มังคุด เงาะ หน้าฝนเราก็กิน ผักกูด เห็ดและหน่อไม้ ในหน้าหนาวก็มีข้าวใหม่และผักสดนานาชนิด
ในอดีต ผู้คนยังไม่มากมายนัก ดินและน้ำก็ยังอุดมสมบุรณ์ เราจึงเพาะปลูกได้ พอกินเหลือก็ถนอมหรือขาย มาวันนี้ ดินก็เสื่อม น้ำก็แล้ง คนก็มาก ทั้งยังต้องผลิตให้พอขายออกนอกประเทศ จึงได้ใช้เทคโนโลยีกำหนดให้ต้นไม้ออกดอกออกผลได้มาก และในเวลาที่มนุษย์ต้องการวิทยาการสมัยใหม่ ยังสามารถยืดอายุผักผลไม้ให้นานขึ้น เป็นเสมือนผลไม้มัมมี่ ดังผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิลและสาลี่ ในตลาดทั่วไปที่ยังดูสด สวยงาม แม้ถูกเก็บเกี่ยวมาเมื่อหลายเดือนก่อน และผ่านการเดินทางมาเกือบครึ่งโลกก็ตาม

ทุกวันนี้ เราจึงได้เห็นลำไย มังคุด ละมุด ลางสาด วางขายอยู่ทั้งปี ไม่เว้นแม้ในหน้าหนาว ยังมีข้าวเหนียวมะม่วง น้ำกะทิทุเรียน ให้กินกันได้ทุกเดือน ไม่เฉพาะในเดือนเมษาหน้าร้อนเหมือนแต่ก่อน ส่วนพืชผักและผลไม้พื้นบ้านที่คนไม่นิยม เช่น มะหวด ลูกหว้า ชำมะเลียง ก็โชคดีไม่ถูกบังคับ ยังคงออกดอกผลได้ตามฤดูกาลเช่นเดิม

ทางภาคเหนือ ช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นเวลาสุกของผลไม้พื้นบ้านที่ชื่อ “มะตาด” บางคนรู้จักต้นไม้ชื่อแปลกนี้ ในฐานะไม้ประดับ ด้วยมีเส้นใบเป็นริ้วสวยงาม บ้างก็รู้ว่า ผลมะตาดเอามาแกงส้มอร่อยนัก เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ แต่คนส่วนใหญ่ที่พบเห็นผลมะตาด วางขายในตลาดพื้นบ้าน ในช่วงปลายฝนต้นหนาว มักไม่รู้จักว่านี่คืออะไร เอามาใช้ทำอะไร

มะตาด บางที่เรียกส้านมะตาด เป็นไม้ยืนต้น พบขึ้นเองในป่าทุกภาคของไทย โตเต็มที่สูงราวบ้าน 2 ชั้น ใบรูปรียาวราวครึ่งศอก โคนและปลายใบแหลม เห็นเส้นใบเป็นริ้วแบบขนนกชัดเจน ขอบใบหยักเป็นรูปฟันเลื่อย ดอกตูมขนาดเท่าส้มเขียวหวาน เมื่อบานมีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ กลิ่นหอมอ่อนๆ ผลแก่มีขนาดกระท้อนลูกใหญ่ๆ ประกอบขึ้นจากกลีบเลี้ยงที่เจริญเติบโต ห่อหุ้มเนื้อผลภายใน ที่เป็นเมือกลื่น มีเมล็ดขนาดเมล็ดแตง สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ จำนวนมาก

การแพทย์พื้นบ้านใช้ผลซึ่งมีรสเปรี้ยว กินเป็นยาระบาย และใช้บรรเทาอาการปวดท้อง น้ำคั้นจากใบและเปลือกมีรสฝาด ใช้รักษาอาการท้องเสีย มีรายงานวิจัยว่า สารสกัดจากใบและผลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ กดระบบประสาทส่วนกลาง และต้านอักเสบ

ต้นมะตาดแยกเป็นชนิดย่อย คือ มะตาดข้าวเหนียว และมะตาดข้าวเจ้า ตามรสสัมผัสของเนื้อผล ส่วนของผลมะตาดที่นำมาแกงนั้น คือส่วนที่เป็นกลีบเลี้ยงมาก่อนนั่นเอง ใช้เพียงกลีบที่ถูกซ้อนอยู่ภายใน 2-3 กลีบเท่านั้น นิยมใช้มะตาดชนิดข้าวเหนียว เพราะได้เนื้อเหนียวนุ่มกว่ามะตาดข้าวเจ้า

แกงมะตาด เป็นแกงส้มที่ใช้มะตาดเป็นผักที่ให้รสเปรี้ยว นิยมแกงกับปลาหรือกุ้ง

เมล็ดมะตาดที่แก่แล้ว นำมากินสดได้ มีรสชาติมัน เมล็ดนี้มีเมือกลื่นห่อหุ้ม สามารถใช้เมือกนี้บำรุงเส้นผมได้ โดยนำเมล็ดมะตาดที่มีเมือกผสมน้ำ 4-5 เท่า ใส่ในขวดปิดฝาให้สนิท เขย่าอย่างแรง กรองด้วยกระชอนหรือผ้าขาวบาง ใช้น้ำนี้หมักกับเส้นผม ราวครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จากนั้นสระผมตามปกติ เชื่อกันว่า สารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในเมือกของเมล็ดมะตาดนี่เอง ที่ช่วยปกป้องเส้นผมจากแสงแดดและมลพิษ

ในตลาดต้นไม้ ต้นมะตาดมักถูกขายเป็นไม้ประดับ เนื่องด้วยความสวยเด่นของใบและดอก ผลมะตาดที่วางขายในตลาดท้องถิ่น มีราคาถูก แต่มักไม่ใคร่มีใครซื้อ ด้วยว่าไม่รู้จัก โดยเหตุนี้ มะตาดจึงยังเป็นพืชที่ให้ผลตามฤดูกาลอยู่ได้ ไม่ถูกบังคับให้ต้องมีผลตามเวลาที่มนุษย์ต้องการ

มนุษย์ใช้เทคโนโลยีดัดแปลงธรรมชาติ การสืบพืชพันธุ์ ให้ผล ออกลูกของพืชและสัตว์ทั้งหลาย ก็เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มนุษย์ใช้เพื่อ เพิ่มหรือลดการสืบพันธุ์ หรือชะลอความป่วย ความตาย ของมนุษย์เองในทุกวันนี้ จะส่งเสริมให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ยั่งยืนหรือไม่ ยังไม่อาจตอบได้

รายการอ้างอิง :

ผศ.ดร.ไชยยง รุจจนเวท. เมล็ดมะตาด บำรุงเส้นผม. (Life Style : สุขภาพ). วันที่ 2 ธันวาคม 2555.

 – ( 704 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


1 + eight =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>