ถ้าพูดถึง “มด” ทุกคนจะต้องนึกถึงพิษสงอันร้ายกาจของมันอย่างแน่นอน เพราะถ้าใครได้โดนมันกัดขึ้นมารับรองเลยว่าจะต้องมีอาการเจ็บๆ คันๆ ไปตามๆ กัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามมดก็ยังบ่งบอกถึงความขยันและความสามัคคีได้เหมือนกัน เพราะถึงมันจะตัวเล็กนิดเดียวแต่มันก็สามารถทำรังได้ใหญ่กว่าตัวมันซะอีก
มดเป็นสัตว์ในวงศ์ Formicidae มดมีจำนวนชนิดมากกว่า 12,000 ชนิด มดมีการสร้างรังเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ บางรังมีจำนวนประชากรมากถึงล้านตัว มีการแบ่งวรรณะกันทำหน้าที่คือ วรรณะมดงาน ซึ่งมดงานจะเป็นมดเพศเมียแต่เป็นหมัน มดพวกนี้จะทำหน้าที่หาอาหาร สร้างและซ่อมแซมรัง ปกป้องรังจากศัตรู ดูแลตัวอ่อน และงานอื่นๆ ทั่วไป วรรณะสืบพันธุ์ จะเป็นมดเพศผู้ และราชินีมดจะเป็นเพศเมีย มีหน้าที่สืบพันธุ์
ในบรรดามดที่มีจำนวนมากกว่า 12,000 ชนิด แต่มีมดที่เรารู้จักกันดีและเห็นอยู่ทั่วไปจะมีอยู่ประมาณ 3 ชนิดคือ
- มดคันไฟ เป็นมดที่สร้างความเจ็บปวดให้กับเราได้ มดคันไฟจะใช้เหล็กในต่อย จึงทำให้ผู้ถูกต่อยรู้สึกเจ็บแสบคล้ายถูกไฟลวกจึงเรียกมดคันไฟ หลังจากถูกต่อยจะมีอาการบวมแดงขยายกว้างขึ้น และจุดที่ถูกต่อยจะใสคล้ายถูกไฟลวกและจะมีอาการคัน มากเมื่อเกาผิวหนังจะบวมแดงแผ่กว้างขึ้น
- มดดำ เป็นมดที่ไม่มีพิษสงอะไรมากนักแต่จะสร้างความรำคาญให้กับเราซะเป็นส่วนใหญ่
- มดแดง ส่วนใหญ่เราจะเห็นมดแดงทำรังบนอยู่ต้นไม้ใหญ่ มดแดงเมื่อถูกรบกวนเมื่อไหร่มันจะทำอันตรายโดยการกัดซึ่งผู้ที่ถูกกัดจะรู้สึกเจ็บปวดมาก ต่อมาจะเกิดอาการบวมคัน
นอกจากมด 3 ชนิดนี้แล้ว ก็ยังมีมดอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อน่ากินว่า “มดน้ำผึ้ง” (Honeypot Ant) หรือ “มดขายาว” มดชนิดนี้เป็นมดที่มีขนาดใหญ่ และมีลักษณะท้องใหญ่ สามารถกักเก็บน้ำผึ้งไว้ในท้องได้อย่างมากมาย โดยเจ้ามดน้ำผึ้งในไทยพบได้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขานัน นครศรีธรรมราช ลักษณะเด่นของมันคือ มีขาและหนวดยาว มีหนวดแบบหักข้อศอก จำนวน 11 ปล้อง ตากลมสีดำ อกปล้องแรกและปล้องที่ 2 ยาว ปล้องที่ 3 ค่อนข้างกลม มดงานมีรูปแบบเดียว คือ ลำตัวสีเหลืองอมน้ำตาล มีโครงสร้างภายนอกที่บอบบาง ลำตัวยาวและเอวคอดกิ่ว ส่วนท้องจะมีสีเข้มกว่าส่วนหัวและอก ส่วนการล่าเหยื่อหรือป้องกันตัวมันจะใช้วิธีการพ่นกรดมดออกมา
ทั้งนี้มดน้ำผึ้งถือเป็นมดที่ถูกจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานร้ายแรงของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าจะทำร้ายราชินีมดท้องถิ่น จนอาจจะทำให้มดท้องถิ่นสูญพันธุ์ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามมดน้ำผึ้งมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดินทั้งด้านสี ความเป็นกรด – ด่าง ปริมาณแอมโมเนียม ไนเตรท ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมแปรผันตามระยะรัศมีจากรังมดน้ำผึ้ง ดังนั้นมดน้ำผึ้งเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่เป็นตัวบ่งชี้สภาพดินของป่าเพราะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมีของดิน ถือว่าเจ้ามดชนิดนี้ก็ยังมีดีอยู่บ้าง
แหล่งที่มา :
อภัสรา วัลลิภผล. “มดน้ำผึ้ง” แมลงที่บ่งชี้สภาพดินของป่า. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้ที่ : http://www.aecnews.co.th/content-“มดน้ำผึ้ง”แมลงที่บ่งชี้สภาพดินของป่า-3-5173-77072-1.html. (วันที่ค้นข้อมูล 8 ธันวาคม 2555).
ว้าวๆ มดน้ำผึ้ง! แมลงที่น่าทึ่งดูแล้วเหมือนอัญมณีเลย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้ที่ : http://webboard.sanook.com/forum/?topic=3676331. (วันที่ค้นข้อมูล 8 ธันวาคม 2555).– ( 1997 Views)