magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ข่าววิทยาศาสตร์ ทำไม? “โลกไม่แตก”
formats

ทำไม? “โลกไม่แตก”

หลายคนคงโล่งอกไปแล้ว เมื่อวันที่ 21/12/2012 โลกไม่แตกอย่างที่หวาดวิตก ในวันนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการย้ำถึงทฤษฎีและเหตุผลว่าทำไมโลกไม่แตกกันอีกครั้ง

ก่อนสุกดิบไม่กี่วัน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “โลกแตก 2012 ในเชิงวิชาการ…จริงหรือหลอก” โดยรวมพลนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าในประเทศ ที่มีทั้งนักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ ผู้ศึกษาแผ่นดินไหวอย่างเชี่ยวชาญ มานั่งพูดคุยถกกันถึงเหตุผลว่า ทำไมคำทำนายทั้งในเชิงโหราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักวิทยาศาสตร์บางคน ที่ออกมาประกาศว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2555 หรือ 2012 นี้ พายุสุริยะจะทำปฏิกิริยารุนแรงกับโลก แกนแม่เหล็กโลกอาจพลิกขั้ว อาจมีแผ่นดินไหวรุนแรง และนั่นถือว่านำมาซึ่งจุดจบของโลก ไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด

และแม้ว่าเนื้อหาบางส่วนของการเสวนาดังกล่าวจะเป็นข่าวรายวันไปแล้ว แต่วันนี้เราจะลงในรายละเอียดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เริ่มจาก ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่เปิดฉากพูดถึงปฏิทินมายา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสันนิษฐาน และหวาดวิตกว่าโลกจะสิ้นสุด ในวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2012 ว่า ในแต่ละศาสนาจะมีความเชื่อเรื่องโลกสิ้นสุด เช่น พุทธศาสนา ที่บอกว่าจะสิ้นสุดเมื่อครบ 2,500 ปี และจะมีผู้มีบุญมาเกิด อันหมายถึงพระศรีอริยเมตไตรย ส่วนคริสต์ศาสนา ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับแอนตี้ไครสต์ ว่าพระเยซูจะกลับมาเกิดใหม่พร้อมกับผู้นับถือในพระองค์ ทำให้ศาสนาคริสต์ใช้พิธีการฝังศพแทนที่จะเผา แม้แต่ฮินดูก็มีความเชื่อทำนองนี้เช่นกันว่า โลกจะถูกทำลายโดยพระอิศวร และพระพรหมจะสร้างโลก พระนารายณ์เป็นผู้ปกป้องโลก

เช่นเดียวกับปฏิทินมายา ซึ่งเมื่อสเปนบุกรุกเข้าไปในอเมริกากลาง ได้ฆ่าชาวมายาจำนวนมาก พร้อมกับทำลายมรดกทางวัฒนธรรมของมายา แทบไม่หลงเหลือ แต่สิ่งหนึ่งที่เหลือนั้นก็คือ ปฏิทินมายา พร้อมกับคนในเผ่าเพียงหยิบมือ ซึ่งเป็นที่มาของความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลก

ดร.สธนแจงว่า ปฏิทินจันทรคติ หนึ่งปีมี 365 วัน ก็จะเท่ากับการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และในรอบ 4 ปี จะมี 366วัน 1 ครั้ง ซึ่งชนเผ่ามายา ใช้การคำนวณปฏิทิน 365 วันตลอด ไม่นับจำนวนวันที่เพิ่มขึ้นมา 1 วัน ในทุก 4 ปี ซึ่งเป็นที่มาทำให้ปฏิทินเกิดการสิ้นสุด ไม่สามารถนับต่อได้ “เมื่อถามว่าทำไมต้องเป็นปฏิทินมายา ที่เชื่อว่าโลกจะสิ้นสุดก็เพราะ มายาเป็นปฏิทินที่สั้นที่สุด เรื่องสิ้นโลกมาก่อนความเชื่ออื่นๆ” ดร.สธนอธิบายไขปริศนาเกี่ยวกับปฏิทินมายา พายุสุริยะเป็นสิ่งที่พูดกันมาก ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ ภาควิชาฟิสิกส์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีการพูดกันมากเรื่องพายุสุริยะว่าจะทำให้โลกแตก เกิดแผ่นดินไหว เกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นคำทำนายล่วงหน้า แต่ยากที่จะแม่นยำ แม้แต่การทำนายล่วงหน้าการเกิดเหตการณ์เพียงแค่ 1 วัน ก็มีโอกาสแม่นยำได้เพียงแค่ 70% เท่านั้น

จริงๆ แล้ว การเกิดพายุสุริยะในอดีต เคยเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อโลกรุนแรง เริ่มในในปี ค.ศ.1859 ที่เรียกว่า คาริงตัน อีเวนต์ (Carington Event) ในวันที่ 1 กันยายน 1859 เกิดการปะทุครั้งใหญ่บนดวงอาทิตย์ และนักวิทยาศาสตร์สหรัฐชื่อ Richard Carington และ Richard Hodgson เกิดสังเกตเห็น โดยขณะนั้น มีพายุสุริยะ 2 ลูกใหญ่ ปล่อยอนุภาคมีประจุ เคลื่อนที่มายังโลกในเวลา 18 ชั่วโมง การเกิดพายุสุริยะครั้งนั้น ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก ทำให้ระบบโทรเลขในยุโรปและอเมริกาเหนือสมัยนั้นขัดข้อง เห็นแสงเหนือแสงใต้ไปทั่วโลก รวมทั้งแถบแคริบเบียนด้วย”แต่พายุสุริยะครั้งนั้นที่ถือว่ารุนแรงมากแล้ว ในแง่กระทบที่มีต่อสนามแม่เหล็กโลก เพียงแค่ 1 ต่อ 1000 ส่วนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และมนุษย์ไม่ได้รับผลกระทบ”

ต่อมาเกิดขึ้นในปี 1989 ส่งผลให้แคว้นควิเบกในแคนาดาไฟดับทั้งเมือง อีกครั้งเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ปี 1995 ทำลายระบบโทรศัทพ์บริษัท ทีทีแอนด์ที ของสหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหาย ปี 2000 เกิดอีกวันที่ 14 ก.ค.ตรงกับวันชาติของฝรั่งเศส ทำให้ระบบดาวเทียมขัดข้อง ซึ่งการเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทางนาซาได้ออกมาเตือนบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมว่าควรจะมีอุปกรณ์ป้องกันพายุสุริยะด้วย

เกิดอีกในวันที่ 28 ต.ค.ปี 2003 เกิดการระเบิดรุนแรงมากบนดวงอาทิตย์ ขนาดที่ไม่สามารถวัดค่าความรุนแรงได้ แต่โลกก็ไม่ได้รับผลกระทบ ต่อมากิดอีกในวันที่ 5 ธ.ค.ปี 2006 ทำให้ระบบจีพีเอสเสียหาย ใช้การไม่ได้นาน 10 นาที ซึ่งตรงนี้อาจจะมีผลกระทบต่อการบิน และล่าสุดเกิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ต.ค.ปีนี้ มีความรุนแรงระดับ Solar flare

“เมื่อวันที่ 23 ต.ค.นี้ เราก็เฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร ทั้งที่เกิดพายุสุริยะ เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่า พายุสุริยะมีจริง แต่เกิดเมื่อไหร่คาดเดาไม่ได้ และพอเกิดแล้วสร้างความเสียหายจริงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่มนุษย์ก็ไม่งอมืองอเท้า มีการหาทางป้องกันมาตลอด แต่ถ้าบอกว่า ถ้าเห็นพายุสุริยะแล้วทำให้แผ่นดินไหว เราก็เห็นว่าแผ่นดินไหว ไหวทั้งปี โดยไม่ต้องเกิดพายุสุริยะ”

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า โลกจะมีอายุไปอีกไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านปี หรือจนกว่าดวงอาทิตย์จะดับ และข้ออ้างว่าพายุสุริยะ (Solar Storm) ที่เกิดรุนแรงในปี 2012 จะทำให้โลกแตกนั้น จริงๆ แล้ว คำว่า “พายุสุริยะ” เป็นศัพท์ชาวบ้าน ไม่ใช่ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ คำนิยามของพายุสุริยะจริงๆ ไม่มี แต่มีนิยามของ “ลมสุริยะ” (Solar wind) ซึ่งหมายถึง กระแสของประจุไฟฟ้า (อิเล็กตรอน และโปรตอน) จากดวงอาทิตย์ ที่มีพลังงานสูง (1.5-10 keV) ที่ไหลมาสู่โลก

สำหรับปรากฏการณ์ที่ส่งผลให้เกิดลมสุริยะ Solar Wind ความเร็วระดับ 300-800 กม.ต่อชั่วโมง ถือว่าไม่รุนแรง แต่ที่ถือว่าระดับรุนแรงมี 3 ระดับ คือ 1.Solar Flare 2.Coronal mass ejection หรือ CME ระดับรุนแรงมาก และ 3.ระดับ prominance ซึ่งมีการปล่อยอนุภาคเป็นพลังงานสูง นับว่าเป็นของแถมจาก CME มีก้อนอนุภาคหลุดออกมา และเป็นพลังงานระดับเทอร์โบ

ดร.บัญชาย้ำว่า ลมสุริยะที่จะมีผลต่อโลกอย่างมากได้ จะต้องเป็นระดับที่รุนแรงจริงๆ เช่น ถ้ามีลมสุริยะระดับ Solar Flare ก็จะต้องมีความเร็วกว่าแสง เป็นแสงวาบ ระดับ 8 นาทีมาถึงโลก ซึ่งถ้าแรงขนาดนี้ก็จะทำให้เกิดรังสีเอ็กซ์มายังโลกในฝั่งโลกกลางวัน อาจทำให้วิทยุดับเป็นชั่วโมงๆ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ลมสุริยะที่รุนแรงเช่นในระดับ CME ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง กว่าจะเดินทางมาถึงโลก “การพูดถึงว่าจะเกิดพายุสุริยะ โดยไม่จำแนกว่าจะเกิดแบบไหน แล้วบอกว่าจะทำให้เกิดแม่เหล็กกลับขั้วหรือดาวเรียงตัว ดาวเคราะห์น้อยชนโลก ไม่อยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์” ดรบัญชากล่าว และว่าประเด็นพายุสุริยะทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เพราะแม่เหล็กโลกกลับขั้ว ดร.ไพบูลย์ นวลนิล อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ศึกษาการเกิดแผ่นดินไหวมานานหลายปี กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่มีฤดูกาล ไม่มีใครสามารถทำนายได้ แม้จะมีความพยายามมากมาย มีข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งว่าไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดพายุสุริยะ ซึ่งตามหลักวิชาการแผ่นดินไหวจะไม่เกิดขึ้นสะเปะสะปะ จะเกิดในตำแหน่งที่มีรอยเลื่อนเท่านั้น ซึ่งทั่วโลกมีแผ่นเปลือกโลก 15 แผ่น เป็นรอยเลื่อนแผ่นใหญ่ 12 แผ่น และแผ่นย่อย 3 แผ่น การไหวเกิดจากเปลือกโลกเคลื่อนตัวทำให้เกิดแรงเค้น ต้องปลดปล่อยพลังออกมา ซึ่งการทำนายว่ากรุงเทพฯ จะเกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ ในวันที่ 14 ก.พ. จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะกรุงเทพฯ ไม่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่

นักวิชาการรายนี้กล่าวอีกว่า ได้มีโอกาสเข้าประชุมเรื่องแผ่นดินไหวระดับโลกที่ประเทศรัสเซียในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งผลการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์ประเทศต่างๆ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า แผ่นดินไหวจะเกิดเป็นรอบๆ ทั่วโลก และการไหวครั้งใหญ่ๆ จะมีรอบของมันเป็นระยะเวลา 55 ปี “และปี 2012 เป็นการเริ่มต้นของรอบใหม่ และคาดว่ารอบการไหวใหญ่จะเกิดขึ้นอีกในปี 2060 ดังนั้น การไหวจึงไม่เกี่ยวกับการเกิดพายุสุริยะอย่างที่วิตกกัน”
“แผ่นดินไหวไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดพายุสุริยะแน่นอน” ดร.ไพบูลย์กล่าว

พร้อมกับยกข้อมูลวิชาการมาแจกแจงว่า ตามปกติ 1.การที่แผ่นดินไหวจะเกิดครั้งใหญ่ๆ ระดับ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป จะเกิดปีละ 15-17ครั้ง ซึ่งในปีนี้เกิดมาแล้ว 17 ครั้ง 2.การไหวระดับ 4-6 ริกเตอร์ จะเกิดขึ้นวันละ 15-20 ครั้ง 3.การเกิดระดับ 2 ริกเตอร์ จะเกิดขึ้นนาทีละ 2 ครั้ง เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้สึก

นอกจากนี้ ยังมีอีกทฤษฎีที่บอกว่า ถ้าการไหวใหญ่ๆ จะเกิด K Index ในระดับสูง แสดงให้เห็นว่าเป็นผลจากพายะสุริยะ แต่เท่าที่มีการตรวจสอบพบว่า การเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ไม่มีค่า K-Index

“จากสถิติเรายังพบอีกว่า การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ ส่วนมากมักจะไปตรงกับช่วงเกิดพายุสุริยะ ที่มีความรุนแรงระดับต่ำ หรือที่เรียกว่า Solar Minimum สถิติการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ จึงไม่เกี่ยวข้องกับพายุสุริยะแน่นอน”

ดร.ไพบูลย์ยังให้แง่มุมที่น่าสนใจอีกว่า การเกิดพายะสุริยะ มีพลังมหาศาลมาก ทำไมไม่ส่งผลกระทบดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าโลกมาก ยานอพอลโล 12-17 พยายามถ่ายภาพแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ ในช่วง 9 ปี ไหวกว่า 2 พันครั้ง พบว่าในดวงจันทร์มีแผ่นดินไหวระดับ 2 เท่านั้น ไม่ใช่ระดับ 6-7 แสดงให้เห็นว่าแผ่นดินไหวไม่เกี่ยวกับพายุสุริยะ

อีกประเด็นที่นักวิชาการรายนี้กล่าวถึงก็คือ สังคมยังควรทำความเข้าใจใหม่ว่า แผ่นดินไหวใช่ว่าจะเกิดสึนามิทุกครั้ง ซึ่งเงื่อนไขการเกิดสึนามิจะมี 3 ข้อ คือ ต้องไหวรุนแรงระดับ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป เกิดในระดับตื้นไม่เกิน 50 กม. และเกิดเป็นแนวดิ่ง ไม่ใช่แนวนอน
“ผมข้องใจมาก เวลาเกิดแผ่นดินไหวแล้วนักข่าวมักจะบอกว่า เช่น ไหวที่สุมาตราจะมีคำพูดตบท้ายว่าเวลานี้ยังไม่เกิดสึนามิ เป็นการพูดแบบเพลงพาไป ว่าพอเกิดแผ่นดินไหวแล้วจะเกิดสึนามิทุกครั้ง จริงๆ แล้วไม่ใช่ การที่แผ่นดินไหวแล้วจะเกิดสึนามิ ต้องมีปัจจัย 3 ข้อที่ผมบอกไปแล้ว” ดร.ไพบูลย์ย้ำอีกว่า ข่าวสึนามินี้ทำลายการท่องเที่ยวของไทยมาหลายปี โดยพบว่าโรงแรมแถบเขาหลัก จ.พังงา เจอปัญหามาก เพราะนักท่องเที่ยวจะถามว่าโรงแรมเขามีระดับเตือนภัยไหม หรือมีทางหนีไหม ถ้าไม่มีก็จะขายห้องพักไม่ได้ ซึ่งทำให้โรงแรมเล็กๆ เสียเปรียบมาก

นอกจากนี้ยังมองว่าประชาชนควรจะแสวงหาความรู้เรื่องภัยพิบัติด้วยตัวเอง ไม่ควรเชื่อคำทำนาย ไม่ว่าจะโหร หมอดู พระ พ่อปลาบู่ เพราะการทำนายแผ่นดินไหวได้แม่นยำจะต้องแม่น 3 ประการ คือ จะเกิดที่ไหน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และรุนแรงระดับไหน ถ้าตอบคำถามไม่ได้ทั้งหมด 3 ข้อ ก็คือว่าไม่แม่น ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำได้ และไม่ควรเชื่อข่าวลือ ซึ่งในประเทศจีนออกกฎหมายห้ามทำนายแผ่นดินไหว เพราะทำให้คนแตกตื่น ใครมาทำนายมั่วๆ โดนจับเข้าคุกมาแล้ว หรือในอิตาลี เคยจับนักวิทยาศาสตร์ 3 คน ติดคุก 2 ปี โทษฐานทำนายไม่แม่นยำ ทำให้มีคนตายหลายร้อยคน ซึ่งสังคมไทยก็ควรมีมาตรฐานแบบนี้บ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้มีการปล่อยข่าวลือ

“สังคมไทยควรแสวงหาความรู้บ้าง มันน่าน้อยใจมาก ผมเคยทำเว็บความรู้เรื่องแผ่นดินไหว 2 ปีผ่านไปมีคนเข้ามาดูแค่ 4 พันกว่าๆ เทียบกับเว็บคลิปหลุดนักศึกษา แค่ชั่วโมงเดียวมีคนมาดูล้านกว่า ผมว่าอย่างนี้มันก็ไม่ไหวนะครับ เราต้องยกระดับความรู้คนในสังคมบ้าง” ดร.ไพบูย์กล่าว

ที่มา : ทำไม? “โลกไม่แตก”. ค้นข้อมูลวันที่ 22 ธันวาคม 2555 จาก http://www.thaipost.net– ( 241 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


4 × seven =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>