อุทยานวิทยาศาสตร์มีการดำเนินการมากว่า 50 ปี ในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นในระยะสั้น และการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว จากข้อมูลของสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์นานาชาติ (International Association of Science Parks : IASP) และสมาคมอุทยานวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย (Association of University Research Parks : AURP) ปรากฏว่ามีจำนวนอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้นกว่า 500 แห่ง ทั่วโลก
และปัจจุบันประเทศต่างๆ ยังได้พัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ขึ้นมาจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสถานที่บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ที่อยู่ในช่วงเติบโตให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยจัดหาสถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน และบริการต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมทางธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา ตัวอย่างเช่น
- สหราชอาณาจักร สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร มีสมาชิกถึง 53 แห่ง เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์เคมบริดจ์ (Cambridge Science Park) ของวิทยาลัยทรินิตี้ (Trinity College) ศูนย์นวัตกรรม (Innovation Centre) ของวิทยาลัยเซ็นต์จอห์น (St’ John’s College)
- ญี่ปุ่น มีอุทยานวิจัยเกียวโต (Kyoto Research Park)
- ไต้หวัน มีอุทยานอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ชินจู (Hsinshu Science-based Industrial Park) ซึ่งมีสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute : ITRI)
- มาเลเซีย มีโครงการอุทยานเทคโนโลยีแห่งมาเลเซีย (Technology Park Malaysia : TPM)
- ไทย มีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park)
จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งพัฒนาธุรกิจแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งรูปแบบของแนวคิดในการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ในแต่ละแห่งนั้นไม่สามารถลอกเลียนกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทิศทาง บริบท และความต้องการของการพัฒนาในแต่ละประเทศเป็นสำคัญ
บรรณานุกรม:
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2546). อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : บ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน.– ( 118 Views)