อุทยานวิทยาศาสตร์มีการดำเนินการมากว่า 50 ปี ในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นในระยะสั้น และการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว จากข้อมูลของสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์นานาชาติ (International Association of Science Parks : IASP) และสมาคมอุทยานวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย (Association of University Research Parks : AURP) ปรากฏว่ามีจำนวนอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้นกว่า 500 แห่ง ทั่วโลก – ( 117 Views)
คุณสมบัติของอุทยานวิทยาศาสตร์
สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (United Kingdom Science Park Association : UKSPA) ได้กำหนดคุณสมบัติของอุทยานวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าเป็นสมาชิกว่าต้องมีขอบข่ายการดำเนินการ 3 ประการ คือ พื้นที่นั้น ๆ ต้องมีการเชื่อมโยงอย่างเป็นกิจลักษณะกับมหาวิทยาลัย / สถาบันการศึกษาในระดับสูงกว่ามหาวิทยาลัย / ศูนย์วิจัยขนาดใหญ่ ในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงโดยรอบ พื้นที่โครงการต้องออกแบบก่อสร้างเป็นอย่างดี เพื่อจูงใจให้ธุรกิจที่เน้นหนักด้านความรู้ (Knowledge-based business) หรือองค์กรอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาจัดตั้งกิจกรรมบนพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ต้องออกแบบพื้นที่ให้เอื้ออำนวยแก่ธุรกิจหรือองค์กรเหล่านี้ให้สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งบนพื้นที่ดังกล่าว การบริหารพื้นที่นั้นๆ ต้องมีกิจกรรมที่ส่งเสริมตลอดจนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทักษะทางธุรกิจจากสถาบันการศึกษาหรือจากสถาบันวิจัยให้แก่ธุรกิจหรือองค์กรต่างๆ ที่ตั้งบนพื้นที่นั้น บรรณานุกรม : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2546). อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : บ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน.– ( 43 Views)
นิยามอุทยานวิทยาศาสตร์
สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์นานาชาติ (International Association of Science Park : IASP) ได้นิยามคำว่าอุทยานวิทยาศาสตร์ไว้คือ อุทยานวิทยาศาสตร์เป็นองค์กรที่มีการบริหารงานโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมุ่งหวังเพื่อสร้างชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ และสถาบันที่เป็นแหล่งความรู้ที่เกี่ยวข้อง อุทยานวิทยาศาสตร์จะทำหน้าที่กระตุ้นและจัดการให้เกิดการไหลเวียนของความรู้และเทคโนโลยีระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคเอกชนและตลาด โดยเป็นผู้จัดเตรียมความพร้อมในด้านอาคารสถานที่และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งบริการสนับสนุนต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของผู้ประกอบการที่ต้องการนำนวัตกรรมมาเริ่มกิจการใหม่ และช่วยบ่มเพาะจนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง บรรณานุกรม : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2546). อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : บ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน.– ( 61 Views)
อุทยานวิทยาศาสตร์ คืออะไร
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคแห่งการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พื้นความรู้สูง (Knowledge-intensive industries) เช่น อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ และเทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ได้เปิดโอกาสอันหลากหลายสำหรับการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และช่องทางการใช้ประโยชน์ต่างๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มดำเนินกิจการก็อาจสามารถฉกฉวยโอกาสดังกล่าวได้ การเติบโตที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยการเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันระหว่างแหล่งความรู้ ภาคการผลิต และตลาด เป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ พัฒนานวัตกรรม และผลักดันการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้จัดให้มีสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นในบริเวณที่ใกล้เคียงกับแหล่งความรู้และแหล่งงานวิจัย เช่น สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย เป็นต้น และในเวลาต่อมาโครงการเหล่านี้ก็ได้รับการขนานนามว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park)” บรรณานุกรม : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2546). อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : บ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน.– ( 207 Views)