magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ข่าววิทยาศาสตร์ หนทางถอนทุนจากงานวิจัยวิชาการ
formats

หนทางถอนทุนจากงานวิจัยวิชาการ

เนื่องจากแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของมหาวิทยาลัยที่เน้นการทำวิจัย เช่น Stanford University เมือง Palo Alto มลรัฐ California ซึ่งเป็นผู้กำเนิดธุรกิจหลายๆ ธุรกิจที่มีมูลค่าถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ   รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้เริ่มผลักดันให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยพยายามพัฒนาการค้นพบจากการวิจัยให้เป็นสินค้าในตลาด  เป็นผลให้มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งได้ใช้จุดแข็งในการการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นสิ่งดึงดูดอาจารย์และนักศึกษาระดับหัวกะทิให้เข้ามาในมหาวิทยาลัย เพื่อขอเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและทำรายได้จากการค้นพบและประดิษฐ์ต่างๆ   จากแนวโน้มดังกล่าว สามารถกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยที่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการเปลี่ยนผลงานวิจัยให้เป็นสินค้าจะไม่สามารถเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นได้

แต่หลายครั้งที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำกำไรจากเทคโนโลยีได้ เพราะการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก นักวิชาการหลายท่านได้ออกมาเตือนว่าบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและมหาวิทยาลัยตั้งความหวังที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ ด้วยการประเมินประโยชน์ที่อาจได้จากการเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นสินค้ามากเกินไป ขณะเดียวกันก็ประเมินความยากและสิ่งที่ต้องลงทุนต่ำเกินไป นักวิชาการหลายท่านแนะนำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มุ่งใช้ “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” เพื่อช่วยให้สังคมได้รับ ประโยชน์จากการค้นพบและทักษะของอาจารย์และนักศึกษามากกว่าเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเงิน

การถ่ายทอดเทคโนโลยี หากทำได้สำเร็จจะส่งผลประโยชน์อย่างมากให้มหาวิทยาลัย แต่ถ้าล้มเหลว มหาวิทยาลัยจะสูญงบประมาณจำนวนมาก อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และกลายเป็นข้อคัดค้านต่อนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการมุ่งเน้นไปที่การทำวิจัยต่อไปในอนาคต

แม้ว่าแนวความคิดในการเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นสินค้าอาจจะดูเหมือนตรงไปตรงมา แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่เรียบง่ายนัก เพราะการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ แต่ละมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในภาควิชา นั้นแตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่มีรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ตายตัว  เช่น บางมหาวิทยาลัยพยายามเปลี่ยนทุกสิ่งประดิษฐ์และทุกการค้นพบให้เป็นสินค้าและหวังว่าโครงการส่วนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ บางมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ และบางมหาวิทยาลัยลงทุนเพื่อแปรรูปโครงการ ให้เป็นบริษัทเพื่อทำกำไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่ได้ยึดตามรูปแบบของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลกลางได้ออกพระราชบัญญัติ “Bayh-Dole Act” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยลดข้อจำกัดจากรัฐบาลในการนำเอาผลการวิจัยออกมาใช้จริงนอกห้องทดลอง โดยกฎหมายนี้ได้มอบสิทธิในการครอบครองสิ่งที่ค้นพบแม้ว่างานวิจัยนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนก็ตาม หากการค้นพบนั้นมีมูลค่าทางการตลาดมหาวิทยาลัยสามารถจดสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือรูปแบบการครอบครองทางกฎหมายอื่นๆ มหาวิทยาลัยสามารถขายงานวิจัยให้แก่บริษัทเอกชน  และผลกำไรที่ได้จะถูกแบ่งให้ผู้คิดค้น ภาควิชาของผู้คิดค้นและมหาวิทยาลัย   Bayh-Dole Act เป็นกฎหมายที่เปิดประตูให้มหาวิทยาลัยได้ถอนทุนคืนจากการลงทุนเพื่องานวิจัยจำนวนมาก เช่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 New York University สามารถทำเงินได้ถึง 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากงานวิจัยยารักษาโรคปวดข้อ

อย่างไรก็ตาม National Research Council (NRC) ได้รายงานว่า มีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถสร้างรายได้ มหาศาลจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย นักวิเคราะห์ได้ประเมินว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ที่ได้จากการเปลี่ยนงานวิจัยให้ เป็นสินค้ามาจากมหาวิทยาลัยไม่ถึง 15 แห่งจากมหาวิทยาลัยหลักๆ ของสหรัฐฯ ที่มีประมาณ 100 แห่ง และมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของโครงการกว่าพันโครงการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแท้จริงแล้ว มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่สามารถทำรายได้จากกิจกรรมอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยได้มากกว่า   NRC กล่าวว่า โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ควรคาดการณ์ถึงรายได้ที่จะได้รับกลับมาให้แก่สถาบันมากนัก เพราะโอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นมีน้อยมาก

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/11209-science-and-technology-news

ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา. (2556) .รายงานข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก วอชิงตัน เดือนมีนาคม 2556. ค้นข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2556 จาก http://ostc.thaiembdc.org/test2012/– ( 102 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


× 4 = thirty two

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>