ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดในประเทศไทยทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าสร้างปัญหาหลายด้านให้กับการใช้ชีวิตและการทำงานมากมาย ทั้งทำให้เจ็บป่วยง่าย เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย โรคผิวหนัง และอีกผลกระทบภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือเรียกว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมาก หรือภาวะเหงื่อท่วม (Hyperhidrosis)” ได้แก่ ภาวะที่ต่อมเหงื่อชนิด Eccrine สร้างเหงื่อมากผิดปกติจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำ เช่น การเข้าสังคม มีกลิ่นตัว หรือต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย หรือเป็นทั้งสองอย่างที่กล่าวมา จึงเป็นภาวะที่สร้างปัญหาต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของใครหลายๆ คนเลยทีเดียว แต่ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกตินั้น คืออะไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร และรักษาได้หรือไม่ เรามีคำตอบดังนี้
ซึ่งเมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ พยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อใด แต่มักเกิดเฉพาะในช่วงกลางวัน ในช่วงกลางคืนจะปกติ เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากปฐมภูมิ (Primary hyperhidrosis หรือ Idiopathic hyperhidrosis หรือ Essential hyperhidrosis) แต่เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเกิดขึ้นโดยรู้สาเหตุ เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทุติยภูมิ (Secondary hyperhidrosis)
เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเป็นเพียงบางแห่งของร่างกาย เช่น รักแร้ ฝ่ามือ และ/หรือฝ่าเท้า ซึ่งมักออกในช่วงกลางวัน เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด (Focal hyperhidrosis) และเมื่อออกมากผิดปกติทั่วทั้งตัว เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว (Generalized hyperhidrosis) ซึ่งเหงื่ออาจออกกลางวัน กลางคืน ทั้งกลางวันกลางคืน หรือเป็นเวลาช่วงไหนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
โดยปกติแล้ว สามารถพบช่วงมีเหงื่อออกมากกว่าปกติได้ เช่น ในการออกกำลังกาย อากาศร้อน อากาศอบอ้าว กินอาหารเผ็ดหรืออาหารร้อน ตื่นเต้น เครียด หรือมีไข้
ภาวะหลั่งเหงื่อมาก เป็นภาวะพบได้บ่อย แต่สถิติที่แท้จริงยังไม่ทราบ เพราะมีผู้ป่วยเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มาพบแพทย์ด้วยภาวะนี้ แต่ประมาณว่า ในประชากรทั้งหมดสามารถพบภาวะนี้ได้ประมาณ 0.6-1% โดยพบภาวะนี้ได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบในผู้หญิงได้บ่อยเท่ากับในผู้ชาย
ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด โดยมาจะพบที่รักแร้ โดยอาจเกิดที่รักแร้จุดเดียว หรือร่วมกับที่ฝ่ามือ และ/หรือฝ่าเท้า รองลงมาคือที่ฝ่าเท้าที่เดียวและ/หรือร่วมกับจุดอื่นๆ และที่ฝ่ามือที่เดียวและ/หรือร่วมกับจุดอื่นๆ ตามลำดับ และจากมีการศึกษาพบว่า ในคนที่มีภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดนี้ ประมาณ 62% มีอาการมานานแล้ว โดยจำไม่ได้ว่าเริ่มมีอาการเมื่ออายุเท่าไร ประมาณ 33% มีอาการเมื่อเริ่มเป็นวัยรุ่น และเพียงประมาณ 5% ที่อาการเริ่มเกิดหลังเป็นผู้ใหญ่แล้ว
สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ เป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติที่ทราบสาเหตุ โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้
- โรคอ้วน เพราะชั้นไขมันใต้ผิวหนังที่หนาขึ้นจะส่งผลให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี จึงต้องเพิ่มการระบายความร้อนออกทางเหงื่อ
- จากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนหรือภาวะวัยทอง (Post menopausal syndrome)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- โรคเบาหวาน จากร่างกายมีความผิดปกติในการใช้พลังงานและการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อต่างๆ
- การติดเชื้อโรคที่ส่งผลให้เกิดอาการไข้เรื้อรัง เช่น โรคมาลาเรีย และวัณโรค
- โรคหัวใจวายเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายต้องใช้พลังงานเพิ่มในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ ความร้อนในร่างกายจึงสูงขึ้น ซึ่งต้องกำจัดออกโดยการเพิ่มภาวะเหงื่อออก
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด (เช่น ยาพาราเซตามอล/ Paraceta mol หรือยาที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน) ยาโรคความดันโลหิตสูง ยาโรคเบาหวาน และยาด้านจิตเวช
- โรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในโรคมะเร็งอาการเหงื่อออกมากผิดปกติทั่วตัวมักเกิดในช่วงกลางคืน
อาการของภาวะหลั่งเหงื่อมาก เมื่อเกิดเฉพาะที่โดยไม่รู้สาเหตุ มักมีเพียงอาการเดียว คือ มีเหงื่อออกมากผิดปกติ เฉพาะจุด ที่พบได้บ่อย คือ ที่รักแร้ รองลงมาตามลำดับ คือ ฝ่าเท้า และฝ่ามือ แต่อาจพบที่ตำแหน่งอื่นได้ แต่น้อยมาก เช่น หลัง หู หรือ หนังศีรษะ ทั้งนี้อาการเกิดขึ้นโดยไม่มีตัวกระตุ้น จะเกิดเวลาใดก็ได้ แต่เกิดเฉพาะเวลากลางวัน ไม่เกิดช่วงกลางคืน ทั้งนี้จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะนี้ได้ ผู้นั้นต้องมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติโดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างน้อยนาน 6 เดือน และต้องเกิดร่วมกับอีก 2 ใน 6 ลักษณะ ดังนี้
- ต้องมีเหงื่อออกผิดปกติเหมือนๆกันทั้งสองข้างของร่างกาย (คือทั้ง ซ้ายและขวา)
- เหงื่อออกมากจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- เหงื่อออกมาก เกิดบ่อยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- อาการเกิดก่อนอายุ 25 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะนี้
- เหงื่อออกช่วงกลางคืนปกติ
อาการภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว จะเกิดเวลากลางวัน หรือกลางคืนก็ได้ หรือเกิดทั้งวัน หรือ เกิดเป็นเวลา ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ มักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆเสมอ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร ผอมลงโดยไม่รู้สาเหตุ ไอเรื้อรัง หรือ ปัสสาวะมากและบ่อย เป็นต้น ทั้งนี้ อาการร่วมจะเป็นไปตามอาการของแต่ละสาเหตุ ดังนั้นจึงแตกต่างกันไปโดยไม่มีอาการเฉพาะจากภาวะนี้
แนวทางการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมาก ได้แก่
- การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดโดยไม่รู้สาเหตุ (ภาวะปฐมภูมิ) มีหลายวิธีอาจใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือร่วมกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อแต่ละวิธีการ และดุล พินิจของแพทย์
◦โดยทั่วไปจะเริ่มด้วย ยาทาเฉพาะที่ที่เรียกว่า Antiperspirants ทายาตรงตำ แหน่งที่เกิดอาการ ซึ่งยามีคุณสมบัติก่อให้เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อและเกิดการฝ่อตัวของต่อมเหงื่อ โดยทายาติดต่อกันทุกคืนจนกว่าเหงื่อจะออกน้อยลง
◦ยาลดการทำงานของประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมีทั้งชนิดทาเฉพาะที่ และชนิดกิน
◦การรักษาโดยวิธีที่เรียกว่า ไอออนโตฟอรีสิส (Iontophoresis) คือการใช้กระ แสไฟฟ้าพลังงานต่ำเป็นตัวนำโมเลกุลของน้ำธรรมดา หรือของตัวยา เพื่อให้เข้าสู่ผิวหนังเฉพาะที่มีต่อมเหงื่อที่เกิดอาการโดยตรง
◦การฉีดยาโบทอก (Botox หรือ Botulinum toxin) ซึ่งจะลดการทำงานของประ สาทอัตโนมัติ จึงลดอาการเหงื่อออก
◦การผ่าตัด หรือการจี้ปมประสาท (Ganglion) ของประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมต่อมเหงื่อในตำแหน่งนั้นๆ - การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัวที่ทราบสาเหตุ (ภาวะทุติยภูมิ)มะเร็ง โรคมาลาเรีย โรคเบาหวาน หรือการปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น คือการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาโรค
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดชนิดไม่ทราบสาเหตุ(ชนิดปฐมภูมิ) เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุนั่นเอง ดังนั้นเมื่อมีอาการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ประจำวัน จึงควรพบแพทย์
ส่วนการป้องกันภาวะชนิดทุติยภูมิ คือ การรักษาสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตให้แข็ง แรง ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดและได้ผลที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณเหมาะสม ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน จำกัดอาหารแป้ง น้ำตาล ไขมัน หวาน และเค็ม เพิ่ม ผัก และผลไม้ นอกจากนั้น คือการรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://haamor.com/th/ภาวะหลั่งเหงื่อมาก
รายการอ้างอิง :
พวงทอง ไกรพิบูลย์. (ม.ป.พ.). ภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis). ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2556, จาก http://haamor.com/th/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81/.
Toongpang. (2556). ภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis). ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2556, จาก http://www.vcharkarn.com/varticle/44427.– ( 9748 Views)