magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Organization Development รำลึกความหลังสู่อนาคตของ สกว. โดย ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
formats

รำลึกความหลังสู่อนาคตของ สกว. โดย ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์

รำลึกความหลังสู่อนาคตของ สกว.

เมื่อ วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดงานครบรอบ ๒๐ ปี สกว. ในงานดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้เล่าให้ฟังถึงการก่อตั้ง สกว. และอนาคต ของ สกว.ในมุมมองของท่าน

การก่อตั้งและการดำเนินงานที่ผ่านมา

เหตุใดจึงมี สกว. เหตุผลก็คือ ในช่วงนั้นหรือแม้กระทั่งในช่วงนี้ เราต้องยอมรับว่าระบบการสนับสนุนการวิจัยของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก สกว. จึงได้ช่วยขึ้นมา ก่อนมี สกว. ในช่วงนั้น งานวิจัยแทบไม่มีนโยบาย ไม่มีงบประมาณ และเท่าที่มีก็ยังติดในระเบียบราชการขยับตัวแทบไม่ได้ ดังนั้นโอกาสสำคัญที่จะปรับ ระบบการสนับสนุนการวิจัยของเรา

เมื่อมีตัวอย่าง คือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  และถัดจากนั้นมา มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขึ้น แสดงว่ามีโอกาสและมีกลไกที่จะให้ตั้งองค์กรของรัฐที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ โดยออกกฎหมายพิเศษ การก่อตั้ง สกว. ที่สำคัญ มีผู้ผลักดัน ๓ ท่าน ได้แก่ ดร.สง่า สรรพศรี ดร.สิบปนนท์ เกตุทัต และ ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล ร่วมด้วย ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่มีข้อเสนอด้านการสนับสนุนการวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก รวมเป็น ๔ ท่าน ซึ่งอยู่ในยุคของคณะรัฐมนตรีอานันท์ ๑ โดยได้มอบให้ ศ.ดร. ยงยุทธ เป็นผู้ช่วยร่าง พรบ. ของ สกว. โดยมีตัวอย่างทั้งสอง และเนื่องจาก สวทช. เป็นหน่วยงานที่ทั้งสนับสนุนและดำเนินการวิจัย จึงให้ดูว่าการตั้งหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัย โดยไม่ดำเนินการวิจัยเอง ควรจะมีการร่าง พรบ. ในรูปแบบใด

ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธ ได้นำเอาหลักการที่ ครม. มอบให้ มาแปลเป็นรายละเอียดเพื่อจะได้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ราชการ โดยใช้ตัวอย่างจาก ๒ หน่วยงานนั้น (สวทช. กับ ม.สุรนารี) เป็นการจัดทำร่างซึ่งประสานจากระดับนโยบายมาสู่ระดับการทำงาน ที่สำคัญการร่าง พรบ.นี้ ให้มีความคล่องตัวในเรื่องระบบการบริหาร และเมื่อมีระบบการบริหารที่คลองตัวแล้ว ต้องมีธรรมาภิบาลด้วย ซึ่งจะเห็นว่ามีคณะกรรมการ ๒ ชุด ชุดที่ ๑ ก็คือ มอบนโยบายและดูให้เป็นไปตามนโยบาย คณะกรรมการชุดที่ ๒ มาช่วยติดตามประเมินผลเพื่อให้การทำงานนั้น ทำอย่างได้ผล (ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ บทเรียนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าบางที่ ที่มีคณะกรรมนโยบาย บางแห่งบางชุด อาจดำเนินการไม่อยู่กับร่องกับรอย หรือแม้แต่ขาดธรรมาภิบาล หากไม่มีกลไกอะไรมากำกับให้ถูกต้อง ซึ่ง ดร.ไพจิตร กล่าวว่าต้องมีคณะกรรมการติดตามประเมินผลเป็นตัวคาน ซึ่งผลงานที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าเป็นกลไกที่ดี) จากนั้น ครม. เสนอร่างผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา สู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติและมีการตั้งกรรมาธิการซึ่ง อาจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี เป็นประธาน ในที่สุดแล้ว มีมติเห็นชอบให้ตราเป็นกฎหมาย

หลักการของ พรบ. ฉบับนี้คือ

๑. สนับสนุนการวิจัยทุกสาขา

๒. ไม่ทำการวิจัยเอง

๓. มีการบริหารที่คล่องตัว

๔. มีกรรมการ ๒ คณะ หลักการของประธานกรรมการทั้ง ๒ คณะให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีการถกเถียงกันมากว่าจะให้เป็นรัฐมนตรีดีหรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิดี ในการให้รัฐมนตรี ก็มีข้อดีคือ มีเสียงใน ครม. หรือมีน้ำหนักมาก แต่มีความเสี่ยงมากจากทางด้านการเมือง ในส่วนของ สวทช. เลือกที่จะมีรัฐมนตรีเป็นประธาน สำหรับ สกว.เลือกประธานที่ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง ๒ หน่วยงาน คือ สวทช.และ สกว. ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสิน ว่าการตัดสินใจอันไหนถูกต้องกว่ากัน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ พรบ. สกว. โดยดำเนินการผ่าน รมว. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ผลงานที่ผ่านมาของ สกว. เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย สกว. เป็นที่รู้จักดี  เรียกว่ามีแบรนด์เนมเกิดขึ้น โดยเฉพาะในภาคการศึกษาวิจัย  ในมุมมอง ของ ศ.ดร.ยงยุทธ สกว.ได้รับความสำเร็จดีมากในด้านการสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งเดิมทีเดียวได้รับความสำคัญน้อย ก็ได้รับความสำคัญมากขึ้น แข็งแกร่งขึ้น และคงจะต้องทำให้สำคัญต่อไป สกว. ได้ดำเนินการ สร้างบุคลากรด้วย ไม่เพียงสนับสนุนแต่งานวิจัย เช่น จัดทำโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ซึ่งสนับสนุนนักวิจัย ในระดับเริ่มต้น หรือโครงการเมธีวิจัยอาวุโส ที่สนับสนุนนักวิจัย ในระดับที่มีประสบการณ์มากแล้ว และ สกว. ไม่เพียงสนับ สนุนโครงการวิจัยทั่วๆ ไปในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่ได้มองความหมายของงานวิจัยให้กว้างขึ้น มีการสนับสนุนงานวิจัยที่สามารถไปเชื่อมโยงกับภาคเอกชน และภาคชุมชนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจ และมุ่งไปที่ท้องถิ่น มุ่งไปที่เยาวชนด้วย เรียกว่า ขยายปีกออกไปจนกระทั่งครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมของประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ สกว. ยังได้พัฒนาดัชนีชี้วัดความสามารถการวิจัยของหน่วยงานระดับภาค วิชาที่เรียกว่า ดัชนี สกว. หรือ TRF Index ซึ่งขณะนี้ใช้เป็นที่อ้างอิงกันอย่างกว้างขวาง

อนาคตของ สกว.

จากความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้ตัว สกว. เองอยู่นิ่งไม่ได้ และน่าจะมองไปในภาพใหญ่ในอนาคต ว่าจะทำเรื่องอะไร ในมุมมองของท่าน ศ.ดร.ยงยุทธ เรามาถึงจุดที่เมืองไทย จะต้องดำเนินการวิจัยขนาดใหญ่  จากการที่มีหน่วยงานสนับสนุนหลายหน่วย จะต้องร่วมมือกันสนับสนุนการวิจัยและเน้นเรื่องใหญ่ๆ เช่น การเสริมยุทธศาสตร์ประเทศ ๓ ด้าน ทางด้านแผนพัฒนาที่ ๑๑ ที่จะออกมาชัด และหวังว่าจะไม่ได้เป็นเพียงแค่แผนพัฒนาที่ ๑๑ แต่จะพูดถึงแผน ๓ ด้านในอนาคต ประกอบด้วย

๑. เป็นกำลังสำคัญทำให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

๒. ทำให้การวิจัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

๓. ทำให้สังคมในประเทศมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง

สำหรับ อนาคตนั้น สกว. ควรเลือกสนับสนุนโครงการใหญ่ที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ และสร้างความสามารถประเทศในระยะยาว เช่น การ วิจัยสู่ความเป็นสากล การวิจัยสู่การ AEC และกว้างไกลกว่านั้น การวิจัยที่ไปสู่ภาคชุมชมอย่างแท้จริง ขจัดความยากจน เพิ่มการเรียนรู้ด้วยตนเอง การสนับสนุนเชิงนโยบายก็มีความสำคัญ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ใส่หลักการไว้ในหลักการของ พรบ.นี้ และการสนับสนุนการวิจัยขั้นพื้นฐานก็ยังมีความสำคัญเช่น เดียวกัน

ท่านกล่าวถึงโครงการเช่น Grand Challenges Thailand ซึ่ง สกว. น่าจะมีส่วนร่วมที่สำคัญได้  โดยได้ปรึกษาเบื้องต้นกับ ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. ว่ากลไกควรเป็นอย่างไร และจะทำอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นกลไกที่น่าจะเป็นไปได้ และทำมา ๒-๓ ปีแล้ว คือความการใช้ร่วมมือที่เรียกว่า ๕ ส. + ๑ ว. (หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยทั้งห้า และสภาวิจัยแห่งชาติ) โดย๕ ส.+ ๑ ว. จัดทำระบบการวิจัยได้ประสานงานกัน และควรให้เป็น consortium อย่างแท้จริง ให้แต่ละหน่วยงานมีอิสระในการทำงาน Grand Challenges เป็น “การท้าทายที่ยิ่งใหญ่” ให้นักวิจัยใช้ความสามารถของตนให้เต็มที่ เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องสำคัญ  ตัวอย่างเช่น Grand Challenges in Mathematics ที่เดวิด ฮิลเบิร์ต ได้ท้าทายนักคณิตศาสตร์เมื่อศตวรรษที่แล้ว  ซึ่งปัจจุบัน มีปัญหาบางอันที่ยังแก้ไม่ได้เลย ถือเป็น Grand Challenges จริงๆ แต่ที่สำคัญก็คือ มันเป็นสิ่งที่ทำให้นักคณิตศาสตร์รู้สึกฮึกเหิม และสร้างความก้าวหน้าให้กับวงการคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก  และในปัจจุบัน บิล เกตส์ นำความคิดมาเป็นการตั้ง Grand Challenges in Global Health เมื่อสิบปีที่แล้ว เน้นการแก้ปัญหาด้านโรคเขตร้อนและโรคของคนจนเป็นหลัก ต่อมาก็มี Grand Challenges Canada ซึ่งเน้นปัญหาสุขภาพในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะด้านโรคเรื้อรังของประเทศเหล่านี้ และขณะนี้มีหลายประเทศที่ความคิดก้าวหน้า เช่น บราซิล อิสราเอล กำลังตั้ง Grand Challenges ของตนเอง

แนวคิด ที่เรียกว่า Grand Challenges Thailand  เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายเรา เป็นปัญหาในการพัฒนา ซึ่งมีอุปสรรคหลัก ที่เราต้องใช้ความพยายามแก้ปัญหา เช่น อุปสรรคในการขาดความรู้ ขาดเทคโนโลยี หรือขาดกลไกในการทำงาน ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้หากเราแก้ไขได้ด้วยการวิจัยและพัฒนา ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

เมื่อก่อน ในสมัยที่ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นผู้อำนวยการ สกว. และ ศ. ดร. ยงยุทธ เป็นผู้อำนวยการ สวทช. ได้เคยมีการดำเนินงานร่วมกันในเรื่องใหญ่ๆ มาแล้ว เช่นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และจีโนม ซึ่งขณะนั้นมีการมองว่าหากประเทศสามารถใช้ ๒ ขา คือเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเรื่องระดับมหภาค และจีโนมเป็นเรื่องระดับจุลภาค เราก็สามารถสนับสนุนและนำไปสู่การใช้งานทางด้านชีวภาพได้ ตรงนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ จึงเสนอว่าในจุดนี้จะเป็นเรื่องที่จะนำไปสู่ Grand Challenges ในยุคใหม่ได้  โดยอาจตั้งการท้าทายเป็นการใช้ความ หลากหลายชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพแก้ปัญหาด้านสุขภาพของไทย ที่นับวันจะเป็นปัญหาที่หนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูง อายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม

สำหรับแนวทาง อาจตั้งเป็นเครือข่าย เป็น consortium “Grand Challenges Thailand” มีการปรึกษาหารือกัน  จัดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย จัดทำโครงสร้างการบริหารองค์กรเน้นว่า ขอให้แต่ละหน่วยเป็นอิสระต่อกัน อย่าพยายามครอบซึ่งกันและกัน แต่ประสานงาน เพื่อนำสู่ความสำเร็จร่วมกัน

ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามฟังเสียงของบรรยากาศของงานครบรอบ ๒๐ ปี สกว. ได้ที่

 

 – ( 148 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


2 + = four

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>