เป็นหัวข้อการบรรยาย ในกิจกรรม NSTDA Knowledge Sharing ภายใน สวทช. ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556
โดย คุณรุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปใจความได้ดังนี้
ผู้บรรยาย กล่าวย้ำว่าหัวข้อการบรรยายนี้ เป็นการประเมินคุณภาพ ของงานวิจัยเพื่อความเลิศทางวิชาการ เท่านั้น (ยกเว้นงานวิจัยประเภทอื่นๆ คือ งานวิจัยเพื่อเศรษฐกืจ งานวิจัยเพื่อเสริมสร้างชุมชน และงานวิจัยนโยบาย) โดยวัด นับจำนวนจากบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร หนังสือวิชาการเป็นหลัก (research publication) เทียบกับระดับนานาชาติ
วารสารวิชาการที่มีคุณภาพ ต้องมี กองบรรณาธิการ (Editorial review) และการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขา (Peer review) การประเมินคุณภาพ เชิงคุณภาพ วิธีดีที่สุด คือ ต้องตรวจสอบด้วยการอ่านเท่านั้น ซึ่งในการปฏิบัติ ต้องใช้เวลามาก ใช้ผู้เชี่ยวชาญอ่านจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถทำได้ จึงใช้ทางอ้อมแทน คือ การประเมินเชิงปริมาณ Bibliometrics ด้วยการวัด / นับจำนวน บทความวิจัยตีพิมพ์ (Number of research publication) การได้รับการอ้างอิง (Number of Citation) และค่าเฉลี่ยจำนวนการอ้างอิงต่อบทความ เป็นต้น
แหล่งข้อมูลออนไลน์ ที่ใช้ในการประเมินคุณภาพผลงานวิจัย ได้แก่
1. Web of Science (WOS) - บอกรับเป็นสมาชิก
2. Thomson Scientific Master Journal List – ฟรี
3. Journal Citation report (JCR) – บอกรับเป็นสมาชิก
4. Eigenfactor – ฟรี
5. Scopus - บอกรับเป็นสมาชิก
6. Journal Metrics – ฟรี
7. SCImago Journal & Country Rank (SJR) – ฟรี
8. CWTS Journal Indicators – ฟรี
9. Google Scholar – ฟรี
วิธีการวัดต่างๆ ใช้หลักการ วัดจากค่าการอ้างอิงเป็นหลัก (Citation-based Metrics)
ตัวอย่าง หน่วยวัดหรือ ดัชนี คุณภาพผลงานวิจัย ได้แก่ ค่า h-index / ค่า Impact Factor (IF) / ค่า Journal Quartile / Cited half-life / Eigenfactor (EF) score / Article influence (AI)
ส่วนวารสารวิชาการไทย เริ่มมีการดำเนินการวัดคุณภาพ โดย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย Thai-Journal Citation Index Center, TCI แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
พบว่า มีวารสารวิชาการไทย มีค่า IF (ปรากฎในฐานข้อมูล WOS และ JCR) จำนวน 8 ชื่อ
มีวารสารวิชาการไทย ที่ปรากฎในฐานข้อมูล Scopus จำนวน 25 ชื่อ
มีวารสารวิชาการไทย ที่ปรากฎในฐานข้อมูลสากลอื่นๆ เช่น Biosis, PubMed
และ มีกลุ่มวารสารวิชาการไทย ที่มีค่า TCI Impact factor อ่าน รายละเอียดได้ที่ www.kmutt.ac.th/jif/public_html/
ค่า h index เป็นหน่วยวัดหนึ่ง ที่สามารถวัดได้ทั้งนักวิจัย สถาบัน ประเทศ วารสาร หมายถึงค่าวัดที่แสดงว่ามีจำนวนบทความวิจัย ที่มีจำนวนครั้งของการอ้างอิงเท่ากับหรือ มากกว่า
ตัวอย่างเช่น นักวิจัย A ได้ค่า h index = 16 หมายความว่า มีทความวิจัย 16 บทความที่ทุกบทความได้รับการอ้างอิงเท่ากับ 16 ครั้งหรือมากกว่า
สามารถหาค่า h index ได้จากฐานข้อมูล Web of Science , Scopus และ Google Scholar
ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานี้เกิดการเปลี่ยนแปลง รูปแบบการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ด้วยสำนักพิมพ์วารสาร มีการเปลี่ยน Business Model จากเดิม Traditional ที่ผู้อ่านต้องจ่ายค่าเข้าอ่าน (ห้องสมุด) เปลี่ยนเป็นผู้ตีพิมพ์ ต้องจ่ายค่าตีพิมพ์ เปิดฟรีให้แก่ผู้อ่าน เรียกว่า Open Access (OA) ที่มีหลายประเภท คือ Gold OA / Green OA / Hybrid OA / Delayed OA
ตัวอย่างของ Gold OA เช่น PLOS, BioMed Central, DOAJ เป็นต้น
ต่อมาเกิดสำนักพิมพ์ที่เข้าข่ายเป็น Predatory OA Publishers คือมีพฤติกรรมหลอกลวง เรียกเก็บค่า Article processing charge, APC กับผู้แต่งบทความที่เสนอเข้าไปตีพิมพ์ โดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ
เกิด Beall’s List โดย Jeffrey Beall บรรณารักษณ์แห่ง มหาวิทยาลัยโคโลลาโด สหรัฐอเมริกา ที่รวบรวมรายชื่อวารสาร สำนักพิมพ์ ที่เข้าข่ายหลอกลวง มีบริการที่ http://scholarlyoa.com
ตัวอย่างชื่อสำนักพิมพ์ เช่น Hindawi / OMICS Group / AnsiNetwork / Bentham Open เป็นต้น
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สกอ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณากำหนดบัญชีรายชื่อวารสารทางวิชาการที่มีคุณภาพ ซึ่งมีการประชุมเมื่อ กุมภาพันธ์ 2556
ปัจจุบัน เริ่มมีการเสนอวิธีการประเมินคุณภาพแบบใหม่ ในเชิงคุณภาพ เช่น สำนักพิมพ์ เสนอวิธีประเมินใหม่ โดยให้ผู้อ่านบทความนั้นๆ ให้ความเห็น comments ทางสื่อสังคมออนไลน์ เรียกว่า Open peer review ในเชิงปริมาณ วัดจากตัวบทความโดยตรง Article-level metrics คือวัดสถิติเข้าใช้บทความ วัดจากการ download ในรูป PageViews, PDF, XML เป็นต้น
สถาบันผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย หลักๆ ของโลก เช่น UK : Research Councils / EU : European Commission / Office of Science and technology policy, USA. ต่างสนับสนุนการตีพิมพ์แบบ Gold OA ชุมชนวิจัยโลก มีการรณรงค์ ให้ลงชื่อประท้วง เพื่อคว่ำบาตรสำนักพิมพ์ Elsevier ที่ขายวารสารในราคาสูงมาก สนับสนุนให้มีการประเมินผลงานวิจัยแบบ Article-level metrics มากขึ้น
รายการอ้างอิง :
รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล, (ผู้บรรยาย). (18 กรกฎาคม 2556). NSTDA Knowledge Sharing : การประเมินคุณภาพผลงานวิจัย ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต. ปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ.– ( 363 Views)