ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทดลองพัฒนาเซลล์ผิวหนังของหนูให้กลายเป็นเซลล์ประสาท (neuron cell) ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปเป็นเซลล์สมองได้สำเร็จ ซึ่งหากเทคนิคนี้ใช้ได้ผลเป็นอย่างดี ทีมวิจัยจะต่อยอดวิจัยในมนุษย์ต่อไป
จากเดิมที่เคยพัฒนาเฉพาะ stem cell ด้วยหวังว่าจะใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ลิวคิเมีย อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน อัมพาตไขสันหลัง เป็นต้น แต่การใช้ stem cell ยังคงมีข้อจำกัดด้านจริยธรรมหากต้องนำ stem cell จากตัวอ่อนมนุษย์ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรับ stem cell จากผู้อื่นอาจเกิดการต่อต้าน ทำให้ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันซึ่งทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นหากผู้ป่วยสามารถใช้เซลล์ผิวหนังของตนเองได้ ย่อมดีกว่ามาก
ทีมนักวิจัยใช้เทคนิคเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้เป็นเซลล์ประสาท โดยสร้างเซลล์ชื่อว่า “neural precursor” ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์สมองทั้ง 3 ชนิด คือ เซลล์ประสาท (neurons) astrocytes และ oligodendrocytes ข้อดีของเซลล์ที่เกิดจากกระบวนการนี้คือ สามารถเจริญได้ดีในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยแนวคิดที่ว่าทั้งเซลล์สมองและเซลล์ผิวหนังมีสารพันธุกรรมเช่นเดียวกัน แต่แสดงออกต่างกันเพราะสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงใช้วิธีการกระตุ้นเซลล์ในช่วงแรกๆของการแบ่งตัว (transcription factor) เพื่อให้เซลล์ผิวหนังมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปจากเดิม
แหล่งที่มา : เมื่อเซลล์ผิวหนังกลายเป็นเซลล์สมองได้. ศูนย์ข่าววิทยาศาสตร์ อพวช. [ออนไลน์]. http://www.nsm.or.th/nsm2009/index.php?option=com_nsmcontents&views=article&id=2937&Itemid=88. (วันที่ค้นข้อมูล 25 ตุลาคม 2555).– ( 140 Views)