เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือเซิร์น (CERN) ลงนามความร่วมมือติดตั้งและใช้งานเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ (Worldwide LHC Computing Grid: WLCG) โดยร่วมดำเนินการศูนย์ระดับ 2 ซึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์แรกในภูมิภาคอาเซียน ที่ทำหน้าที่สำรองข้อมูล เพื่อใช้งานในภูมิภาค
ศ.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และรองประธานกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน ราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับเซิร์น เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทยมีส่วนร่วมในการวิจัยขั้นสูง โดยใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ที่ลงทุนสูง เช่น เครื่องเร่งอนุภาค (LHC) ของเซิร์น
ด้าน ศ.รอล์ฟ ไดเตอร์ ฮอยเออร์ ผู้บริหารสูงสุดเซิร์น กล่าวว่า มีนโยบายที่จะสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายนักวิจัยในประเทศแถบอาเซียน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้มีความร่วมมือในการศึกษาหาข้อมูล และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลกมีงานวิจัยใหม่ๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือมนุษยชาติต่อไป
ขณะที่ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ได้ร่วมมือทางวิชาการและวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงกับเซิร์น โดยได้เข้าเป็นสมาชิกของ The Compact Muon Solenoid Collaboration: CMS ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก และจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความร่วมมือกับเซิร์นโดยตรง นักฟิสิกส์ไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลการทดลองของ CMS และร่วมวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดลองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคฮิกส์และ ฟิสิกส์ใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ต่อไป นอกจากนี้เครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นยังสนับสนุนงานด้าน การคำนวณขั้นสูงทางวิทยาศาสตร์แก่นักวิจัยในประเทศไทยอีกด้วย อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
แหล่งที่มา : สวทช.ร่วมมือ’เซิร์น’ยกระดับนักวิจัยไทย. 2556. มติชน. ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม.– ( 38 Views)