สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรปหรือเซิร์น ลงนามความร่วมมือติดตั้งและใช้งานเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ (Worldwide LHC Computing Grid : WLCG) โดยให้ไทยเป็นศูนย์สำรองข้อมูลเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน นับเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทยมีส่วนร่วมในการวิจัยขั้นสูง โดยใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ที่ลงทุนสูง เช่น เครื่องเร่งอนุภาค (LHC)ของเซิร์น
ทั้งนี้ จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความร่วมมือกับเซิร์นโดยตรง นักฟิสิกส์ไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลการทดลองในหน่วยงานภาคีของเซิร์น และร่วมวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดลองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคฮิกส์และ ฟิสิกส์ใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ต่อไป ขณะที่ เซิร์นมีนโยบายสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายนักวิจัยในประเทศแถบอาเซียน ในการศึกษาหาข้อมูล และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีงานวิจัยใหม่ๆ ที่จะช่วยเหลือมนุษยชาติต่อไป
สำหรับ การลงนามโครงการเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ หรือ WLCG นี้ ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยจะช่วยสนับสนุนการประมวลผลข้อมูลในระดับสูง สิ่งที่ได้สามารถปรับใช้กับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การบริหารจัดการน้ำ การจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะยกระดับงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติให้เข้มแข็งต่อไป
รายการอ้างอิง :
2556. องค์การเซิร์นตั้งไทยศูนย์สำรองข้อมูล. กรุงเทพธุรกิจ (SCIWATCH), ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม.– ( 54 Views)