เคยสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมคนเราจึงหาว มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายว่าทำไมคนเราจึงหาว แต่ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า การหาวเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายที่สั่งการโดยสมอง อาจเนื่องมาจากร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะนั้น จึงเกิดอาการหาวขึ้นเพื่อปรับตัว และการหาวเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร
การหาว เกิดจากร่างกายของเรามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกรดแลคติกอยู่ในกล้ามเนื้อและอยู่กระแสเลือดสูง จนร่างกายไม่สามารถขับออกมาทางลมหายใจได้ทัน ร่างกายจึงจะสูดลมหายใจลึกขึ้นโดยอัตโนมัติเพื่อรับก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย และขับลมออกนานกว่าเดิมเพื่อขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย
นอกจากนี้การหาว อาจะเกิดด้วยสาเหตุอื่น เช่น ความเครียดสูง แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความเหนื่อยล้า หรือความเบื่อหน่าย เนื่องจากร่างกายมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมมากๆ จึงทำให้เราหาวและอยากพักผ่อน ดังนั้นหากไม่อยากหาวบ่อยๆ ควรหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เคร่งเครียด หลีกเลี่ยงจากมลพิษ และอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อาการหาวก็จะค่อยๆ ลดลง
แต่หากทำแล้วยังไม่ได้ผล ยังหาวอยู่บ่อยๆ ไม่ต่ำกว่าวันละ 30 ครั้ง แนะนำให้ไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย เพราะการหาวบ่อยๆ เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหรือระบบทางเดินหายใจ
การหาวตามกัน หลายคนมักกล่าวว่าการหาวเป็นโรคิติดต่ออย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้ว การหาวไม่ใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด แต่เป็นกิริยาอาการบางอย่างของคนเราสามารถเกิดขึ้นตามๆ กันได้ เช่น เมื่อคนหนึ่งหัวเราะขึ้นมา คนอื่นก็อยากหัวเราะบ้าง อาการหาวก็เช่นกัน เมื่อคนหนึ่งอ้าปากหาว น่าแปลกที่คนอื่นมักจะหาวตาม
สัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ เช่น แมว สุนัข ก็หาวได้เช่นกัน โดยเป็นการหาวตามสัญชาตญาณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดจากวิวัฒนาการที่ถ่ายทอดสืบกันมา แต่สำหรับคน ชิมแปนซี และลิงกัง จะมีอาการหาวตามกันเมื่อเห็นหรือคิดว่าคนอื่นหรือสัตว์ตัวอื่นหาว
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเคยสงสัยเช่นกันว่า ทำไมการหาวจึงเป็นอาการที่ติดต่อถึงกันได้ ซึ่งจากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การหาวตามกันอาจมาจากความต้องการในการแสดงอารมณ์ร่วมกับผู้อื่น
ดร.อาสึชิ เซนจุ จากวิทยาลัยเบิร์กเบ็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยลอนดอน และนักวิจัยจากญี่ปุ่น ร่วมกันศึกษาอาการหาวตามกันในกลุ่มเด็กธรรมดาและเด็กออทิสติก และพบว่าเด็กออทิสติกจะไม่หาวตามกัน
รายงานการศึกษาเรื่องนี้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Biology Letters ดร.เซนจุ กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่า การหาวตามกันไม่เกิดกับเด็กออทิสติก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองอาจเป็นการสกัดกั้นอาการหาวตามคนอื่น
ทั้งนี้ ออทิสซึ่มเป็นความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ซึ่งทำให้เด็กไม่สามารถมีความผูกพันทางอารมณ์กับผู้อื่น และจากการศึกษาที่พบว่าเด็กออทิสติกหาวตามสัญชาตญาณ แต่ไม่หาวตามคนอื่น จึงบ่งชี้ได้ว่าการหาวตามกันอาจมีสาเหตุมาจากความต้องการแสดงอารมณ์ร่วม
รายการอ้างอิง :
หาว เกิดจากอะไร.. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.nstda.or.th/vdo-nstda/sci-day-techno/4117-yawn. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).
เอมอร คชเสนี. ทำไมคนเราจึงหาว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9520000107280. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).
– ( 2471 Views)