วันฮาโลวีน หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า วันปล่อยผี ซึ่งเทศกาลนี้ มักมีการจัดตกแต่งบ้านเรือน ร้านค้า โดยใช้ฟักทองที่คว้านเป็นรูปผี หรือใช้นำวัสดุอื่น ๆ ประดิษฐ์เป็นผี หรือนำมาสร้างบรรยากาศจากความน่ากลัวให้กลายเป็นงานรื่นเริง และเต็มไปด้วยสีสัน แต่ด้วยเหตุใดจึงเรียกเทศกาลรื่นเริงเช่นนี้ และกลายมาเป็นเทศกาลประจำชาติตะวันตกได้อย่างไร
ประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจของ “ฮาโลวีน” ไว้ดังนี้
ในคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก Halloween เป็นคำภาษาอังกฤษ เพี้ยนมาจากคำ All Hallows Evs ซึ่งแปลว่า วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย นอกจากนี้คำว่า Hallow ยังแปลว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักบุญ คำ All Hallowmas จึงแปลว่า วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย ในปัจจุบันใช้คำว่า All Saints Day ซึ่งต่อมาย่อเป็น Halloween โดยมีงานรื่นเริงและพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกับคืนคริสต์มาส ชาวคาทอลิกพร้อมใจกันเลื่อนพิธีกรรมทางศาสนาไปหลังวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และเรียกว่า วันวิญญาณในแดนชำระ (All Souls Day) เพื่อให้คู่กับวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saints Day)
การสมโภชนักบุญทั้งหลายเริ่มโดยสันตะปาปาโบนีเฟสที่ 4 (Boniface IV ครองอำนาจ ค.ศ. 608–615) โดยกำหนดวันที่ 13 พฤษภาคมของทุกปี ตั้งแต่ ค.ศ. 613 เป็นต้นมา สาเหตุเนื่องจากเป็นวันเปิดโบสถ์แพนทีอัน (Pantheon) อันเป็นโบสถ์สรรพเทพของชาวโรมันมาแต่เดิม และจักรพรรดิโฟกัส (Phocas) ยกให้เป็นของคริสต์ศาสนา ต่อมา สันตะปาปากรีโกรีที่ 4 (Gregory IV ครองอำนาจ ค.ศ. 827–844) เปลี่ยนเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน ตั้งแต่ ค.ศ. 835 เป็นต้นมา
ชาวคาทอลิกขณะนั้นถือว่าวันฮาโลวีนมีความสำคัญคู่เคียงกันกับวันคริสต์มาสและวันอีสเตอร์จึงเริ่มงานตั้งแต่วันก่อนหรือวันสุกดิบ ขณะนั้นเกาะอังกฤษยังรับอำนาจของสันตะปาปาอยู่ ชาวอังกฤษจึงรับนโยบายของสันตะปาปาไปปฏิบัติตาม
ด้วยเหตุที่ชาวเผ่าเคลต์ของเกาะอังกฤษ (ไอร์แลนด์และสกอตแลนด์) ถือเอาวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันต้นฤดูหนาวและเป็นวันขึ้นปีใหม่ (Samhoin) มาเป็นเวลานานแล้ว โดยจัดพิธีเป็น 2 วัน คือวันสุกดิบ (31 ตุลาคม) เป็นวันทำบุญเลี้ยงผี ซึ่งเชื่อกันว่าทั้งคืนจะมีผีออกเพ่นพ่านรับส่วนบุญ เมื่อจัดทำพิธียกอาหารทำบุญแล้วก็ปิดประตูหน้าต่างอยู่แต่ในบ้านอธิษฐานขอให้ผีไปที่ชอบ ๆ วันรุ่งขึ้น (1 พฤศจิกายน) เป็นวันปีใหม่ ได้ทำพิธีบูชาเทพเจ้าตามด้วยการรื่นเริงตามประเพณี เมื่อชนพวกนี้ยอมรับนับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ยังคงปฏิบัติประเพณีนี้ต่อมา ครั้นได้รับนโยบายจากสันตะปาปาแล้ว ผู้นำศาสนาก็หาวิธีแทรกพิธีกรรมของศาสนาคริสต์เข้ากับประเพณีเดิม วันสุกดิบจึงกลายเป็นวันทำบุญให้วิญญาณของผู้ล่วงลับที่อาจจะยังไม่ได้ขึ้นสวรรค์ คือวิญญาณที่ยังใช้โทษใช้บาปกรรมของตนยังไม่หมดสิ้น ยังอยู่ในแดนชำระ (purgatory) จึงทำพิธีสวดอ้อนวอนขอพระเป็นเจ้าเมตตาให้ได้ขึ้นสวรรค์เร็วขึ้น วิญญาณเหล่านี้จึงไม่น่ากลัวเหมือนผีที่เร่ร่อนขอส่วนบุญ เมื่อชาวบ้านหันมานับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ไม่เชื่อเรื่องผีมาขอส่วนบุญอีก แต่ก็ยังถ่ายทอดประเพณีนี้ต่อไป โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ คือคืนวันสุกดิบถือเป็นคืนเล่นผี มีผู้แต่งตัวสมมุติเป็นผีออกเพ่นพ่านขอส่วนบุญ ใครที่ไม่ชอบแต่งตัวเป็นผีก็ยินดีจัดเลี้ยงต้อนรับผีในครอบครัวของตน โดยคว้านฟักทองหรือใช้วัสดุอื่นทำให้มีหน้าตาเป็นผี สร้างบรรยากาศให้มีผีในบ้านต้อนรับผีนอกบ้าน กลายเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงที่มีบรรยากาศแปลก วันรุ่งขึ้นจึงเป็นวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และต่ออีกวันหนึ่งจึงเป็นวันทำบุญให้วิญญาณในแดนชำระ
เมื่อชาวไอริชและชาวสกอตอพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกาก็นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติ ปรากฏว่าถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา และตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาก็กลายเป็นเทศกาลประจำชาติมาจนทุกวันนี้
ความเชื่อและการเล่นวันฮาโลวีน
วันฮาโลวีนอังกฤษ
ที่ประเทศนี้ถือว่าวันฮาโลวีนนี้เป็นวันดี เหมาะสำหรับจัดงานแต่งงาน การทำนายโชคชะตา หรือแม้แต่เรื่องความตายยังถือว่า วันนี้เป็นเพียงวันเดียวที่ภูติผีวิญญาณจะช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่คนเป็นต้องการสามารถเป็นไปตามใจปรารถนา ประมาณเที่ยงคืนของวันฮาโลวีนสาวอังกฤษจะออกมาหว่าน และไถกลบเมล็ดป่าน พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน และท่องคาถาร้องขอให้มองเห็นภาพของว่าที่คู่ชีวิตของตนในอนาคต เมื่อสาวเจ้าเหลียวมองผ่านบ่าด้านซ้ายก็จะได้เห็นภาพนิมิตของผู้ที่จะมาเป็นสามีของตนในอนาคต
อีกประเพณีหนึ่งของชาวอังกฤษ คือ การหย่อนเหรียญ 6 เพนนีลงในอ่างน้ำ พร้อมแอปเปิ้ล ผู้ใดสามารถแยกแยะของสองสิ่งนี้ออกจากกันได้โดย ใช้ปากคาบเหรียญ และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิ้ลให้ติดได้ในครั้งเดียว ผู้นั้นจะมีโชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังจะมาเยือน
วันฮาโลวีนอเมริกา
ประเพณีวันฮาโลวีนของประเทศมหาอำนาจนี้ดูจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายกว่าประเพณีของชาวอังกฤษ นั่นก็คือ ประเพณี Trick or Treat ที่จะให้เด็กๆ แต่งหน้า แต่งตัวเป็นผีเดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ เพื่อร้องขอขนมเค้กสำหรับวิญญาณ (Soul cake) พร้อมกับส่งเสียงทักทายว่า “Trick or Treat” หากเจ้าของบ้านตอบว่า Trick จะถูกเด็กๆ แกล้ง แต่ถ้าตอบว่า Treat เจ้าของบ้านหลังนั้นก็ต้องนำขนมเค้กมาให้พวกเด็กจนกว่าเขาจะพอใจ
เด็กที่แต่งตัวเป็นภูติผีวิญญาณเปรียบเหมือนสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างคนเป็นและคนตาย โดยเจ้าของบ้านที่ให้ขนมแก่เด็กๆ สามารถฝากคำอธิษฐานไปถึงคนตายได้ด้วย ดังนั้น ยิ่งเด็กๆ ขอขนมได้มากเท่าใด วิญญาณที่ยังเวียนวนอยู่ในรกก็จะยิ่งได้รับส่วนบุญ และมีโอกาสขึ้นสวรรค์มากยิ่งขึ้นด้วย
สัญลักษณ์และเครื่องหมาย
ในวันฮาโลวีนอีฟ ชาว เซลท์ โบราณจะแขวนโครงกระดูกไว้ตรงธรณีหน้าต่าง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความตาย ประเพณีนี้มีจุดกำเนิดในยุโรป จะมีการแกะสลักโคมไฟจากหัวผักกาด เพราะมีความเชื่อว่าหัวเป็นส่วนที่มีพลังที่สุดของร่างกาย ประกอบไปด้วยจิตวิญญาณและภูมิความรู้ ซึ่งชาวเซลท์ จะใช้ส่วนหัวของผักมาขับไล่วิญญาณร้าย ตำนานของเวลส์ ไอริช และบริททิช จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหัวที่ทำด้วยทองเหลือง ซึ่งเป็นเรื่องราวการล่าหัวมนุษย์ที่แพร่หลายในหมู่ชาวเซลทิคโบราณ ซึ่งมักจะนำเอาหัวที่ล่ามาได้นี้ไปตอกตะปูตรึงไว้ที่ทับหลังประตู หรือเอาไปวางไว้ข้างเตาไฟ เพื่อประกาศถึงความหลักแหลม ชื่อของแจ็ค โอ แลนเทิร์นมีที่มาจากแจ็คชาวนาเฒ่า ขี้ตืด ติดพนัน และขี้เมา เขาหลอกปีศาจให้ปีนต้นไม้ที่ทำกับดักเป็นรูปสลักไม้กางเขนไว้ที่ลำต้น เพื่อไม่ให้ปีศาจกลับลงมาได้ ปีศาจได้แก้แค้นโดยการสาปแช่งแจ็ค ให้เขาร่อนเร่ไปยามค่ำคืนด้วยไฟดวงเดียวที่เขามี คือมีเทียนเล่มเดียวปักอยู่ในโพรงของหัวผักกาด แต่ในอเมริกาเหนือสามารถหาฟักทองได้ง่ายกว่าหัวผักกาด ทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่าจึงหันมาแกะสลักฟักทองแทนหัวผักกาด หลายครอบครัวจะฉลองฮาโลวีนโดยการแกะสลักฟักทองเป็นรูปร่างน่ากลัวหรือรูปหน้าตลกแล้วไปวางที่ธรณีประตูในยามมืด ประเพณีการแกะสลักฟักทองเริ่มต้นเข้ามาในอเมริกาเหนือในยุคที่ชาวไอริชประสบภาวะข้าวยากหมากแพง และเกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวพืชผล ซึ่งประเพณีการแกะสลักนี้ ในช่วงแรกไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเทศกาลฮาโลวีนเลย จนกระทั่ง กลางถึงปลายศตวรรษที่ 1800
ภาพรวมของวันฮาโลวีนส่วนใหญ่จะผสมผสานกันระหว่างผลงานของโกธิค และนวนิยายสยองขวัญที่เกี่ยวกับแฟงเคนสไตน์และแดร็คคูล่า เป็นเวลาเกือบศตวรรษแล้วที่ผู้สร้างหนังชาวอเมริกัน ,ศิลปินภาพกราฟฟิกและ บริษัทผลิตภาพยนตร์ของอังกฤษ “British Hammer Horror productions” มักผลิตผลงานสยองขวัญลึกลับออกมา เพราะเมื่อเอ่ยถึงวันฮาโลวีนก็จะต้องเกี่ยวกับความตาย ปีศาจร้าย ตำนานเกี่ยวกับเวทมนต์และอสูรกายในตำนาน ซึ่งตัวละครพื้นฐานดั้งเดิม ได้แก่ ซาตาน พญามัจจุราช ภูตผี ปิศาจ ผีดิบ แม่มด ก็อปลินส์ แวมไพร์ ผีดูดเลือด มนุษย์หมาป่า ซอมบี้ โครงกระดูก แมวดำ แมงมุม ค้างคาว นกฮูก นกกา นกแร้ง
สัญลักษณ์วันฮาโลวีนในอเมริกาได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนต์สยองขวัญคลาสสิก (ซึ่งมักมีตัวละครจากบทภาพยนตร์ เช่น อสูรกายแฟงเคนสไตน์ และมัมมี่) สภาพอากาศจะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งมีสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์อันได้แก่ ฟักทอง เปลือกข้าวโพด และหุ่นไล่กา บ้านเรือนต่าง ๆ มักจะประดับตกแต่งด้วยสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งสีส้มและดำเป็นสีประจำเทศกาลฮัลโลวีน
การเล่นทริค ออ ทรีท (Trick-or-treat)
ทริค ออ ทรีท เป็นการละเล่นตามประเพณีฮาโลวีนของพวกเด็ก ๆ โดยพวกเด็ก ๆ มักจะแต่งตัวแล้วออกไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อขอขนม ลูกอม หรือบางครั้งก็เป็นเงิน ด้วยคำถามที่ว่า “ทริค ออ ทรีท” คำว่า ทริค (trick) หมายถึง หากเจ้าบ้านไม่ทำการ ‘treat’ คือมอบสิ่งของตามที่เด็ก ๆ ร้องขอ ก็จะก่อกวนเจ้าบ้านหรือบริเวณที่พักอาศัย ซึ่งในบางพื้นที่ของไอร์แลนด์และสก็อตแลนด์เด็กๆจะร้องเพลง หรือเล่าเรื่องผีเพื่อแลกกับการที่เจ้าบ้านยอม ‘treat’
เครื่องแต่งกาย
เครื่องแต่งกายประจำเทศกาลฮาโลวีน คือแต่งเป็นสัตว์ประหลาด เช่นผีร้าย โครงกระดูก แม่มด และภูต สาเหตุก็เนื่องมาจาก เพื่อต้องการทำให้ปิศาจร้ายกลัว ซึ่งการแต่งกายส่วนใหญ่มักจะเอาแบบอย่างมาจากบทประพันธ์มากกว่าที่จะเป็นความเชื่อของท้องถิ่น เช่น ตัวละครต่าง ๆ จากโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสิ่งอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง
เกมส์และกิจกรรมอื่นๆ
งานปาร์ตี้ในวันฮาโลวีนมักจะมีการเล่นเกมส์ต่างๆ ซึ่งหนึ่งในเกมส์ยอดนิยมคือเกมส์แอปเปิลจุ่มน้ำ คือการเอาแอปเปิลไปแช่ไว้ในถังหรือกะละมังแล้วผู้เล่นต้องคาบแอปเปิลออกจากถัง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปการละเล่นไปบ้าง เช่น นั่งคุกเข่าบนเก้าอี้ แล้วคาบส้อมไว้ แล้วพยายามปล่อยส้อมให้ไปจิ้มบนลูกแอปเปิล ส่วนอีกเกมส์หนึ่งก็คือการใช้เชือกแขวนน้ำเชื่อมหรือโดนัทแล้วให้ผู้เล่นกินโดนัทนั้นโดยไม่ใช้มือ ซึ่งจะทำให้หน้าตาผู้เล่นเปอะเปื้อน
บางเกมส์ที่เล่นในวันฮาโลวีนมักจะเป็นไปในทางการทำนายทายทัก เช่นชาวไอริชและสก็อตติชจะทำนายเนื้อคู่โดยการปอกเปลือกแอปเปิลให้เป็นเส้นยาวโดยไม่ขาดจากกัน แล้วโยนเปลือกนั้นข้ามไหล่ไป เปลือกแอปเปิลนั้นก็จะปรากฎเป็นตัวอักษรนำหน้าชื่อเนื้อคู่ของเรา ซึ่งความเชื่อนี้ ถูกนำเข้ามาจากผู้ที่ย้ายถิ่นฐานชาวไอริชและสก็อตติชในแถบชนบทของอเมริกา
ส่วนความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ถูกเล่าต่อ ๆ กันมา คือ หากผู้หญิงโสดนั่งอยู่ในห้องมืดแล้วเพ่งมองกระจกในคืนวันฮาโลวีน จะปรากฎหน้าเนื้อคู่ให้เห็นในกระจก และหากเห็นเป็นโครงกระดูกแทนที่จะเป็นรูปหน้าคนก็หมายความว่าผู้หญิงคนนั้นจะเสียชีวิตก่อนแต่งงาน ความเชื่อนี้ได้ขยายวงกว้างออกไปจนปรากฎอยู่บนการ์ดอวยพรในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20
การเล่าเรื่องผีและการชมภาพยนต์สยองขวัญก็เป็นส่วนหนึ่งในงานปาร์ตี้วันฮาโลวีน ส่วนซีรีย์ชุดที่มีเรื่องราวพิเศษ ๆ เกี่ยวกับวันฮาโลวีน (มักจะตั้งเป้ากลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็ก) มักจะมีการออกอากาศก่อนวันฮาโลวีน ในขณะที่ภาพยนต์สยองขวัญ ส่วนใหญ่จะเข้าโรงและฉายในช่วงก่อนจะถึงวันหยุดฮาโลวีนเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ
เสน่ห์ของสถานที่สยองขวัญ
บ้านผีสิงก็จะถูกจัดขึ้นเพื่อสร้างความบันเทิงเชิงสยองขวัญ ซึ่งมักจะเป็นธุรกิจที่เกิดในช่วงเทศกาลฮาโลวีน จุดกำเนิดนั้นไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่ามีที่มาจากการระดมทุนของ Junior Chamber International (เจซี) เมื่ออุตสาหกรรมของกิจกรรมดังกล่าวเติบโตขึ้น ก็มีการรวมเอาบ้านผีสิง เขาวงกต การนั่งรถบรรทุกหญ้าแห้ง ซึ่งมีความสมจริงมากขึ้น มาคอยให้บริการในช่วงวันฮาโลวีน ซึ่งกิจกรรมสยองขวัญเหล่านี้สามารถทำเงินในอเมริกาได้ราว 300-500 ล้านเหรียญต่อปี โดยมีลูกค้าราว 400,000 คน ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2005 การที่คนให้ความสนใจกันมากขึ้นนำไปสู่การค้นคว้าหาเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความสมจริงยิ่งขึ้นให้เท่าเทียมกับที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์ฮอลลีวูด
รายกางอ้างอิง :
กนกวรรณ ทองตะโก. ฮาโลวีน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1001. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).
สุขสันต์รับวันฮาโลวีน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://season.sanook.com/halloween/. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).
Halloween. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.educatepark.com/story/halloween.php. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).
– ( 1502 Views)