magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Health น้ำตาเทียม
formats

น้ำตาเทียม

ในยุคที่คนเราใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีเกือบจะ 24 ชั่วโมง เราใช้สายตาไปกับการเพ่งมองหน้าจออุปกรณ์ล้ำยุคเหล่านี้เป็นเวลานานโดยไม่รู้ตัว จะมารู้ตัวอีกทีก็เกิดอาการตาพร่ามัวจนไม่เป็นอันทำอะไรต่อ ซึ่งอาการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตา และอาจจะส่งผลเสียตางานเลยก็เป็นได้ ดังนั้นการใช้สายตาเพ่งมองเป็นเวลานานๆ นั้น จะส่งผลให้ดวงตาแห้ง ระคายเคือง และพร่ามัว ซึ่งวิธีแก้ไขคือ ต้องใช้น้ำตาหล่อเลี้ยงดวงตา บางคนอาจจะใช้วิธีหาวให้น้ำตารื้อขึ้นมาเอง หรืออีกวิธีคือ การใช้น้ำตาเทียม แล้วน้ำตาเทียมมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการได้อย่างไร

การใช้สายตาเป็นเวลานาน หรือต้องสัมผัสกับแสงแดด อากาศและฝุ่นละออง จะทำให้ดวงตาของเราแห้งจนทำให้รู้สึกแสบ และระคายเคืองได้ การใช้น้ำตาเทียม จึงเป็นอีกวิธีที่จะช่วยชะล้างสิ่งแปลกปลอม เพิ่มความชุ่มชื้น และบรรเทาอาการระคายเคืองได้

น้ำตาเทียม ต่างจาก น้ำตาธรรมชาติ หรือไม่

น้ำตาธรรมชาติ
ในภาวะปกติน้ำตาสร้างมาจากต่อมน้ำตา ต่อมภายในเยื่อบุตา ต่อมบริเวณโคนขนตา ตลอดจนต่อม ภายในหนังตา แต่ละต่อมสร้างน้ำตาต่างชนิดกัน โดยเรียงเป็น 3 ชั้น

  1. ชั้นนอกเป็นชั้นไขมัน มีหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำ 
  2. ชั้นกลางเป็นน้ำ เป็นชั้นที่หนาที่สุด เป็นตัวที่ให้อาหารและออกซิเจนหล่อเลี้ยงแก้วตา 
  3. ชั้นที่ชิดผิวตาเป็นชั้นเมือก มีหน้าที่ปรับสภาพของกระจกตา ทำให้น้ำตากระจายตัวได้อย่างรวดเร็วเวลากระพริบตา 

น้ำตามีหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตา และเยื่อบุตาขาว ช่วยปรับสภาพของกระจกตาให้เรียบ ทำให้เกิดการหักเหของแสงที่สม่ำเสมอ ทำให้มองเห็นชัดเจน ป้องกันการติดเชื้อของกระจกตา ชะล้างสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ฝุ่นผง สารเคมี เชื้อโรค เป็นแหล่งอาหารให้กับผิวดวงตา เนื่องจากกระจกตาเป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยออกซิเจนจากอากาศและน้ำตา น้ำตายังเต็มไปด้วยเกลือแร่ วิตามินเอ วิตามินอี สารต้านจุลชีพ และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยให้ผิวดวงตาอยู่ในสภาพปกติ หากขาดสารเหล่านี้พื้นผิวดวงตาจะแห้ง และหลุดลอกได้ง่าย

น้ำตาเทียม
เป็นสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด มีสารเพิ่มความหนืดที่ทำให้น้ำตาเทียมฉาบบนกระจกตา เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา และความสารที่สามารถปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ที่ทำใหเราสามารถใช้น้ำตาเทียมหยดตาได้โดยไม่รู้สึกแสบตา ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน ดังนี้

  1. hydrogel หรือ polymer ซึ่งช่วยเพิ่มความหนืด (viscosity agents)ให้น้ำตาเทียม เพื่อให้ฉาบอยู่ที่กระจกตานานขึ้น เพิ่มความสบาย และความชุ่มชื่นให้กระจกตา แต่ถ้าน้ำตาเทียมยี่ห้อใดมีความหนืดมาก ก็จะทำให้ระยะเวลาที่น้ำตาเทียม ฉาบอยู่บนกระจกตานานขึ้น อาจทำให้มีอาการตามัว มองไม่ชัดหลังหยอดตาระยะแรก 
  2. สารกันเสีย ช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพได้นาน และป้องกันการเติบโตของจุลชีพ ที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะหยอด ทำให้สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด
  3. บัฟเฟอร์ (buffer) เป็นส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุล ขององค์ประกอบอื่นในน้ำตาเทียม ปรับความเป็นกรดด่างให้พอเหมาะ ไม่แสบตาเวลาหยอด ช่วยคงสภาพของน้ำตาเทียม 
  4. ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น glycine, magnesium chloride, sodium chloride, zinc, calcium chloride, sodium borate เพื่อให้น้ำตาเทียมมีคุณสมบัติ ใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด

หยอดน้ำตาเทียมนานๆ จะมีข้างเคียงต่อดวงตาหรือไม่
การใช้น้ำตาเทียม เพื่อช่วยหล่อลื่น และให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตา และเยื่อบุตาขาว ไม่ก่อให้เกิดอันตราย หรือผลข้างเคียงต่อดวงตาแต่อย่างไร สามารถใช้ได้ตามต้องการ ในรายที่ไวหรือแพ้สารกันเสีย ซึ่งมีอยู่ในยาหยอดตาทุกชนิดที่เป็นขวดใหญ่ ก็สามารถเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ปราศจากสารกันเสีย ซึ่งบรรจุอยู่ในหลอดขนาดเล็กที่ใช้ได้วันต่อวัน

วิธีการใช้น้ำตาที่ถูกต้อง

  • ล้างมือให้สะอาด
  • แหงนหน้าขึ้น ใช้มือข้างหนึ่งดึงหนังตาล่างเบาๆ ลงมาเป็นกระเปาะหรือกระพุ้ง
  • เหลือบตามองขึ้นข้างบน
  • หยอดยา หรือน้ำตาเทียม 1-2 หยด ด้วยมืออีกข้าง ลงในเบ้าตาอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ปลายหลอดหยดสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของดวงตา เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ เข้าไปเจริญเติบโตในยา
  • หลับตา กรอกตาไปมา ห้ามกระพริบตาชั่วครู่
  • เช็ดยาส่วนเกินที่หยดออกมานอกดวงตา ด้วยกระดาษชำระหรือผ้าที่สะอาด
  • ล้างมือหลังหยอดตาให้สะอาด เพราะอย่าลืมว่าการติดเชื้อ สามารถเป็นที่ตาอีกข้างหนึ่งได้ ถ้าเอามือสกปรกที่แตะหนังตา หรือขี้ตา มาถูกตาอีกข้างหนึ่ง หรือแพร่ไปให้คนอื่นๆ ในครอบครัว หรือในที่ทำงานได้ด้วย
  • ห้ามใช้ยาหยอดตา หรือน้ำตาเทียมร่วมกับผู้อื่น เพราะหากเจ้าของยามีการติดเชื้อ คุณอาจได้รับเชื้อนั้นด้วย

น้ำตาเทียมเปิดใช้แล้วเก็บได้นานแค่ไหน
น้ำตาเทียมที่ผสมสารกันเสีย เมื่อเปิดใช้แล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็น และไม่ควรใช้นานเกินหนึ่งเดือน ส่วนน้ำตาเทียมที่ไม่มีส่วนผสมของสารกันเสียนั้น เมื่อเปิดใช้แล้ว ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง

 

รายการอ้างอิง :

น้ำตาเทียมทำจากอะไร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.nstda.or.th/vdo-nstda/sci-day-techno/5860-artificial-tears. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).

อัมพร อยู่บาง. คำถามที่เจอบ่อยกับ … เรื่องน้ำตาเทียม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.yourhealthyguide.com/article/as-eye-drop.html. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).

 เอมอร คชเสนี. น้ำตาเทียม..เลือกใช้อย่างไร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000155498. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).

 – ( 1842 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


4 + = thirteen

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>