อาการผิดปกติทางกายที่เกิดหลังการใช้คอมพิวเตอร์ เรียกกันว่า “คอมพิวเตอร์ซินโดรม (Computer syndrome)” ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางกายต่างๆ ซึ่งมีหลายอาการพร้อมกัน จึงมักเรียกว่า เป็นกลุ่มอาการ (syndrome) ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดต้นคอ เจ็บแขน รวมทั้งอาการผิดปกติทางตา หากแยกออกมาพูดถึงเฉพาะอาการทางตา จะเรียกว่า “โรค หรือภาวะคอมพิวเตอร์วิเชินซินโดรม (Computer vision syndrome)” หรือเรียกย่อๆ ว่า โรค หรือภาวะซีวีเอส (CVS)
โรคซีวีเอส มักพบมากในกลุ่มของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์ถึง 80 % โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยอาการอาจเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะไม่บั่นทอนการทำงาน หรือเมื่อพักการใช้คอมพิวเตอร์สักครู่ อาการดังกล่าวก็หายไปได้เอง หรือบางคนอาจต้องว่างเว้นการใช้งานไปเป็นวัน อาการก็หายไปเอง แต่บางคนอาจต้องใช้ยาระงับอาการ หรือเลิกใช้คอมพิวเตอร์ไปเลย
โรคซีวีเอส มีสาเหตุจากอะไรบ้าง
- โดยปกติคนเราทุกคนจะต้องกระพริบตาอยู่ตลอดเวลา เพื่อเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่ว โดยมีอัตรากระพริบตาปกติ ประมาณ 20 ครั้งต่อนาที แต่หากเราอ่านหนังสือ ตาต้องจับอยู่ที่ตัวหนังสือ อัตราการกระพริบตาจึงลดลง โดยเฉพาะการจ้องหน้าคอมพิวเตอร์จะกระพริบตาลดลงกว่า 60% ทำให้ผิวตาแห้ง แสบตา เคืองตา คันตา
- มีแสงจ้าและแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์กระทบตา แสงสว่างในห้องไม่พอเหมาะมีไฟส่องหน้าผู้ใช้ หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างสะท้อนเข้าตา แสงจ้าและแสงสะท้อนทำให้เมื่อยล้าตาได้ง่าย
- คลื่นแสงที่หน้าจอ (Refresh rate) ทำให้ภาพบนจอออกเป็นแสงกระพริบ ภาพที่เกิดหน้าจอเกิดจากจุดเล็กๆ หลายจุดที่เรียกกันว่า พิเซล (Pixel) ซึ่งมาจากคลื่นไฟฟ้าในเครื่องวิ่งไปชนกับพื้นหลังของจอที่เคลือบด้วย ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ลักษณะของพิเซล แต่ละจุดมีความสว่างไม่เท่ากัน สว่างมากตรงกลางและจางลงบริเวณขอบๆ จึงเห็นเป็นภาพกระพริบ ก่ออาการเคืองตาเมื่อต้องจ้องอยู่ตลอดเวลาได้ ถ้าปรับ Refresh rate ให้ได้ขนาด 70– 85 Hz(hertz) แสงกระพริบจะน้อยลง นอกจากนั้น ตาคนเราปรับโฟกัสให้เห็นภาพขนาดต่างๆกันได้ดีในภาพที่มีขอบเขตชัดเจน มีความแตกต่างคมชัดที่ดี แต่ภาพจากคอมพิวเตอร์ขอบเขตไม่ชัด ทำให้ตาต้องปรับโฟกัสอยู่เรื่อยๆ จึงเกิดการเมื่อยล้าตาได้ง่ายกว่าการอ่านหนังสือปกติมาก
- การจัดวางคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสม ใกล้ หรือ ไกลสายตามากเกินไป
- สายตาผิดปกติที่มีอยู่เดิมก่อนแล้ว ซึ่งโดยการทำงานตามปกติไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ถ้ามาทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์จะก่ออาการเมื่อยล้าตาได้
- บางรายมีโรคตาบางอย่างประจำตัวอยู่ เช่น ต้อหินเรื้อรัง ม่านตาอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง ตลอดจนโรคทางกาย เช่น ไซนัสอักเสบ หวัด ภูมิแพ้เรื้อรัง หรือ ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อต้องปรับสายตามากเวลาใช้คอมพิวเตอร์ จึงก่อให้เกิดอาการเมื่อยตาได้ง่าย
- การทำงานจ้องจอภาพนานเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากงานเร่ง หรือมีหน้าที่อยู่หน้าจออย่างเดียว ย่อมเกิดอาการทางตาได้ง่ายจากการเกร็งกล้าม เนื้อตาตลอดเวลา
การแก้ไขกันและป้องกัน
- เนื่องจากอัตราการกระพริบของจอภาพ (refresh rate) จอที่มีค่าอัตราการกระพริบของจอภาพต่ำทำให้ตาต้องทำงานมากเพราะภาพที่ได้จะมีการสั่นและกระพริบ ความถี่ที่เหมาะสมคือ 70 Hz (hertz) หรือมากกว่าค่าอัตราการกระพริบของจอภาพ ของจอคอมพิวเตอร์ชนิด CRT สามารถปรับได้ที่ start/settings/control panel/display/settings/advanced
- ความหนาแน่นของ pixel (Resolution) ถ้ามีความหนาแน่นของ pixel สูงจะมีรายละเอียดมากกว่า เช่น 800 x 600 resolution จะมีรายละเอียดมากกว่า 640 x 480 โดยทั่วไปความหนาแน่นของ pixel สูงจะดีกว่าแต่ต้องดูที่ refresh rate ด้วยเพราะถ้ามี resolutions สูงแต่ค่าอัตราการกระพริบของจอภาพไม่สูงพอภาพก็อาจไม่ดีได้ ข้อเสียของ resolution สูงคือภาพและข้อความจะมีขนาดเล็กลงและข้อดีของ การใช้จอคอมพิวเตอร์ที่มี resolutions สูงจะทำให้สบายตากว่า
- ระยะห่างระหว่างรูของช่องโลหะ (Dot pitch) มีผลต่อความคมชัด จอคอมพิวเตอร์ปกติมีค่า 0.25-0.28 มม. ค่าต่ำแสดงว่ามีความคมชัดมาก ฉะนั้นค่าที่ดีคือ 0.28 มม. หรือต่ำกว่า ค่า Dot pitch นี้ไม่สามารถปรับได้
- ควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีความสว่างเท่ากับภาวะแวดล้อม ส่วน contrast ควรปรับให้สูงเพื่อให้การโฟกัสและการมี binocularity ง่ายขึ้น แสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ทำให้ contrast ลดลงได้ทำให้การมองเห็นไม่สบายตาโดยเฉพาะถ้าเป็นตัวอักษรสีอ่อนบนพี้นสีเข้ม จึงแนะนำให้ใช้ตัวอักษรสีดำบนพื้นขาว ขนาดตัวอักษรควรเป็น 3 เท่าของตัวอักษรตัวเล็กที่สุดที่เราเห็นได้ เราสามารถ ทดสอบโดยเดินห่างออกไป 3 เท่าของระยะทางที่เราใช้งานอยู่ ถ้ายังคงเห็นตัวอักษรบนจอได้อยู่แสดงว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมแล้ว
- จอแบน มีการบิดเบือนของภาพน้อยกว่าจอโค้ง นอกจากนี้ยังสามารถลดแสงสะท้อนจากหน้าจอได้ดีกว่า เมื่อบวกกับสารพิเศษที่เคลือบทับหน้าจออีกชั้นหนึ่งทำให้สามารถลดแสงสะท้อนได้อย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระจกกรองแสง
- ฝึกกระพริบตาขณะทำงานหน้าจอทุก 1-2 ชั่วโมง หรือ บ่อยกว่านี้ และหากแสบตามาก อาจใช้น้ำตาเทียมช่วย (ปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- จัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ในระยะทำงานพอเหมาะที่ตามองได้สบายๆ โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 0.45 ถึง 0.50 เมตร จอภาพควรตั้งสูง 0.72-0.75 เมตร เหนือพื้นห้อง ปรับเก้าอี้นั่งให้พอเหมาะ ให้ตาอยู่สูงจากพื้นโดยเฉลี่ย 1.0–1.15 เมตร ตาควรอยู่สูงกว่าขอบบนของจอภาพเล็กน้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ใช้แว่นตา 2 ชั้น จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตาเพื่อจะได้ตรงกับเลนส์แว่นตาส่วนที่ใช้มองใกล้ นอกจากนั้น การตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าตาจะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องแหงนหน้ามอง ซึ่งการแหงนหน้านานๆ ทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอและหัวไหล่ได้ง่าย
อนึ่งผู้สูงอายุ ถ้าต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆต่อเนื่อง ควรปรึกษาจักษุแพทย์พิจารณา ใช้แว่นตาเฉพาะดูได้ทั้งระยะอ่านหนังสือ ระยะจอภาพ และระยะไกล เป็นกรณีพิเศษ - หากมีสายตาผิดปกติหรือโรคตาบางอย่างอยู่ ควรแก้ไขและรักษาโรคตาที่เป็นอยู่ควบคู่ไปด้วย
- หากงานในหน้าที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทุก 1–2 ชม. ควรมีการพักสายตา โดยละสายตาจากหน้าจอ แล้วมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ หากเป็นไปได้ ควรทำงานหน้าจอ ภาพวันละ 4 ชม. เวลาที่เหลือไปทำงานอื่นบ้าง
รายการอ้างอิง :
สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต. โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์ (Computer Vision Syndrome/CVS). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://haamor.com/th/โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).
Anonymous. Computer vision syndrome. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.doctor.or.th/clinic/detail/7253. (วันที่ค้นข้อมูล 30 ตุลาคม 2555).
– ( 255 Views)
ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดต้นคอ อันนี้จริงแน่นอนครับ ผมก็กำลังเป็นอยู๋ หึหึ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ ครับ