น้ำตา คือ น้ำหรือสารคัดหลั่ง ที่มีหน้าที่หล่อเลี้ยงดวงตาให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ น้ำที่หล่อเลี้ยงดวงตานี้หลั่งมาจากต่อมน้ำตา หนังตา และเยื่อบุตา ตลอดเวลาในปริมาณเล็กน้อย จนไม่สังเกตว่ามีน้ำตา แต่เมื่อเวลาที่เกิดอารมณ์ดีใจ เสียใจ หรือมีสิ่งแปลกปลอมทำให้ระคายเตืองตา จะมีน้ำหลั่งมาจากต่อมน้ำตาในปริมาณมากพอให้เห็นได้ บางครั้งอาจมีลักษณะของตาแดง บวมช้ำ ร่วมด้วย
ในภาวะปกติน้ำตาสร้างมาจากต่อมน้ำตา ต่อมภายในเยื่อบุตา ต่อมบริเวณโคนขนตา ตลอดจนต่อมภายในหนังตา แต่ละต่อมสร้างน้ำตาต่างชนิดกัน โดยเรียงกันเป็น 3 ชั้น ดังนี้
ชั้นนอก เป็นชั้นไขมัน มีหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำตา ทำให้น้ำตาคงอยู่ในตาได้นานขึ้น
ชั้นกลาง เป็นน้ำ เป็นชั้นที่หนาที่สุด ทำหน้าที่ให้อาหารและออกซิเจนหล่อเลี้ยงกระจกตา
ชั้นใน ที่ชิดผิวตาเป็นชั้นเมือก ทำหน้าที่ปรับสภาพของกระจกตา ทำให้น้ำตากระจายตัวได้อย่างรวดเร็วเวลากะพริบตา
น้ำตาทั้งสามส่วนล้วนมีความสำคัญ หากขาดชั้นใดชั้นหนึ่งไปอาจทำให้เกิดความผิดปกติของตาได้ เพราะน้ำตานั้นมีหน้าที่สำคัญมากมาย ได้แก่ ให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตาขาว ปรับสภาพของกระจกตาให้เรียบ ทำให้เกิดการหักเหของแสงที่สม่ำเสมอ ทำให้มองเห็นชัดเจน ป้องกันการติดเชื้อของกระจกตา ชะล้างสิ่งแปลกปลอม เป็นแหล่งอาหารให้กับผิวดวงตา เนื่องจากกระจกตาเป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง จึงต้องอาศัยออกซิเจนจากอากาศและน้ำตาที่เต็มไปด้วยเกลือแร่ วิตามินเอ วิตามินอี สารต้านจุลชีพ และสารต้านอนุมูลอิสระ
ผลการวิจัยยังพบว่า การหลั่งน้ำตาของคนเรานั้นถูกควบคุมโดยต่อมน้ำตา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความเข้มของน้ำตา และควบคุมปริมาณการขับถ่ายแร่ธาตุต่างๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้นขณะที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงออกไปจากร่างกาย โดยปริมาณของแร่ธาตุต่างๆ ที่มีในน้ำตานั้นมากกว่าที่มีในกระแสเลือดถึง 30 เท่า และอธิบายว่าคนที่ร้องไห้จะรู้สึกสบายขึ้น เนื่องจากร่างกายได้ขจัดเอาสารเคมีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความทุกข์ออกไปจากร่างกายพร้อมกับน้ำตานั่นเอง ในการศึกษาของเฟรย์พบว่าผู้ชาย 73% และผู้หญิง 75% กล่าวว่ารู้สึกสบายขึ้นหลังจากร้องไห้ และการหลั่งน้ำตาเนื่องจากสาเหตุที่แตกต่างกัน จะทำให้ส่วนประกอบทางเคมีของน้ำตาที่หลั่งออกมานั้นแตกต่างกันด้วย โดยพบว่าสารเคมีบางอย่างเหมือนกันและบางอย่างแตกต่างกันอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตที่จากการวิจัยในผู้หญิงที่ร้องไห้ก็คือ ผู้ที่ร้องไห้มากๆ โดยมีสาเหตุมาจากความสะเทือนอารมณ์ มักจะมีสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะร่างกายต้องสูญเสียโปรตีนไปนั่นเอง ประกอบกับความสะเทือนอารมณ์ต่างๆ ก็มักจะมาพร้อมๆ กับภาวะกินไม่ได้ นอนไม่หลับร่วมด้วย
ดังนั้น เมื่อเมื่อ “น้ำตาธรรมชาติ” ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีการใช้ “น้ำตาเทียม” ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด
ที่มา :
เอมอร คชเสนี. (2552). คุณรู้จัก “น้ำตา” ดีหรือยัง. ค้นคืนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http://www.sahavicha.com/?name=blog&file=readblog&id=3740
Dev hoxe. (2556). ทำไมเวลาเสียใจ-ดีใจ น้ำตาต้องไหล. ค้นคืนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http://www.ความรู้รอบตัว.com/สาระน่ารู้/ความรู้เรื่องร่างกาย/ทำไมเวลาเสียใจ-ดีใจ-น้ำต.html– ( 73 Views)