หากกล่าวถึงอาหารไทย สิ่งที่จะนำมาปรุงรสอาหารอีกอย่างที่ไม่เคยขาดจากครัวไทยคือ “กะปิ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยผลิตจากการหมักเคยหรือกุ้งกับเกลือในอัตราส่วนที่เหมาะสม ใช้เวลาหมักไม่น้อยกว่าสองเดือน กะปิมักนิยมใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารหลายๆ ชนิด เช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกสำเร็จรูป เครื่องแกงชนิดต่างๆ เพื่อช่วยปรุงแต่งรสชาติอาหารให้กลมกล่อม
ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (2547) ระบุว่า กะปิ เป็นอาหารที่ไม่มีการอนุญาตให้ใช้สี ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กะปิของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ในปี 2552-2554 ซึ่งเก็บตัวอย่างกะปิจากจังหวัดกระบี่ ตรัง ระนอง รวมจำนวน 88 ตัวอย่าง พบมีการใช้สี 52 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 59.1 เป็นสีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร 49 ตัวอย่าง สีเหล่านี้เมื่อสะสมอยู่ในร่างกายแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น สีโรดามีน บี อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน ท้องเดิน อาการชา เพลีย และอ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ไต และตับเสีย สีบางชนิดอาจทำให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากสารอื่นที่ติดมาเนื่องจากการสังเคราะห์ หรือจากกระบวนการผลิตที่แยกเอาสารเจือปนออกไม่หมด เช่น แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว สารหนู โครเมียม พลวง และเซเรเนียม ซึ่งพิษของโลหะหนักเหล่านี้อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
ดังนั้น สำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ควรเลือกซื้อกะปิที่ไม่ผสมสี และหลีกเลี่ยงไม่ซื้ออาหารที่มีสีฉูดฉาด
อ้างอิง : กรมวิทย์ฯเตือนกะปิใส่สีอันตราย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.komchadluek.net/detail/20121031/143658/กรมวิทย์ฯเตือนกะปิใส่สีอันตราย.html. (วันที่ค้นข้อมูล 31 ตุลาคม 2555).
– ( 310 Views)
โชคดีที่ไม่กินกะปิ