เมื่อวานนี้ (1 เมษายน 2557) ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2557 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีการสัมมนาเรื่อง การเพาะเลี้ยงเห็ดในชุมชน ตั้งแต่เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุม CC-404 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีวิทยากร 5 ท่าน ในที่นี้ขอกล่าวถึงการบรรยายของ 2 ท่านแรก ดังนี้
1. นายกฤษชนะ นิสสะ โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อ.ภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ บรรยายในหัวข้อ การเพาะเลี้ยงเห็ดระโงกเหลืองในฤดูกาลและนอกฤดูกาล สรุปการบรรยายได้ว่า เห็ดระโงกแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ เห็ดระโงกเหลือง เห็ดระโงกขาว และเห็ดระโงกแดงส้ม ชื่อของเห็ดบ่งบอกถึงสีของเห็ดที่ปรากฏ เห็ดระโงกเหลืองมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงมากอย่างชัดเจนกว่าเห็ดชนิดอื่นตามข้อมูลทางโภชนาการ เห็ดระโงกนิยมเพาะเลี้ยงมากทางภาคอีสานของประเทศ วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดระโงกคือ นำเห็ดระโงกที่แก่ผสมน้ำแล้วไปรดลงที่รากของต้นกล้าไม้วงศ์ยาง ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 เดือน แล้วจึงปลูกต้นกล้าลงดิน ปีที่ 3 เห็ดจะเริ่มออก ปีที่ 5-6 เห็ดจะเริ่มออกเยอะขึ้น ระหว่างที่ปลูกต้นกล้าลงดินอาจจะเพิ่มเชื้อเห็ดโดยรดน้ำผสมเห็ดเพิ่ม มีไม้วงศ์ยางหลายชนิดที่เหมาะสมในการเกิดเห็ดระโงกในพื้นที่อีสาน ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง กระบาก รัง พะยอม ไม้วงศ์ยางดังกล่าวแต่ละชนิดเหมาะแก่การเกิดเห็ดระโงกได้ต่างกัน ปัจจัยทางกายภาพที่มีผลต่อการเกิดเห็ดระโงก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ความหนาแน่นของชั้นฮิวมัส ชนิดของพืชที่ปลูกร่วม เช่น ถ้าในบริเวณที่เพาะเลี้ยงเห็ดมีพืชตระกูลขิงข่า เห็ดระโงกจะไม่ค่อยเกิด
2. นางสาวธิติยา บุญประเทือง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ บรรยายในหัวข้อ การเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าในแปลงธรรมชาติ สรุปการบรรยายได้ว่า แหล่งเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ตำบลสามเรือน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นี่เมื่อก่อนชาวบ้านปลูกข้าว แต่ต่อมาได้เปลี่ยนพื้นที่นาเป็นแปลงต้นโสนซึ่งเป็นพืชอาศัยสำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า ที่ตำบลสามเรือนมีเกษตรกรปลูกเห็ดตับเต่าประมาณ 100 ราย ส่งไปขายทั่วประเทศ ตลาดใหญ่อยู่ที่ภาคอีสาน มีคนนิยมรับประทานอยู่เป็นจำนวนมาก ราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ประมาณ 80-150 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าไปถึงภาคอีสานราคาจะอยู่ที่ 300 บาทต่อกิโลกรัม งานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดตับเต่าที่ได้รับการตีพิมพ์ เช่น ศึกษามีสารอาหารอะไรบ้างในเห็ดตับเต่า พบว่าเห็ดตับเต่ามีไขมันต่ำแต่คาร์โบไฮเดรตสูง ศึกษาต้นสนเป็นพืชอาศัยของเห็ดตับเต่าหรือไม่ พบว่าไม่ใช่พืชอาศัย ศึกษาสนสองใบเป็นพืชอาศัยของเห็ดตับเต่าหรือไม่ พบว่าเป็นพืชอาศัยโดยเห็ดสร้างโครงสร้างพิเศษรอบรากของพืช ศึกษากาแฟ ขนุน ส้ม มะม่วง เป็นพืชอาศัยของเห็ดตับเต่าหรือไม่ พบว่าขึ้นได้แต่ไม่พบโครงสร้างพิเศษรอบรากของพืช ซึ่งแสดงว่าเป็นพืชอาศัยที่ดี ศึกษาพบว่าเห็ดตับเต่าสามารถเจริญได้เองโดยไม่ต้องอาศัยต้นไม้ งานวิจัยของคนไทยเกี่ยวกับเห็ดตับเต่า เช่น เปรียบเทียบอาหารเลี้ยงเชื้อเห็ดหลายอย่าง ใช้มันต้มผสมวุ้นเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อเห็ดและทดลองให้แสงและไม่ให้แสง แล้วทดลองเติมแอมโมเนียและน้ำตาล ต่อมาลองเติมข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง พบว่าข้าวกล้องทำให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตได้ดีสุด
ที่มา: เรียบเรียงจากการฟังบรรยายในหัวข้อดังกล่าวข้างต้น– ( 1693 Views)