magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home S&T Stories การเพาะเลี้ยงเห็ดในชุมชน ตอนที่ 2
formats

การเพาะเลี้ยงเห็ดในชุมชน ตอนที่ 2

ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2557 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวานนี้ (1 เมษายน 2557) มีการสัมมนาเรื่อง การเพาะเลี้ยงเห็ดในชุมชน ตั้งแต่เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุม CC-404 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีวิทยากร 5 ท่าน ในที่นี้ขอกล่าวถึงการบรรยายของ 3 ท่านหลัง ดังนี้

1. ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ บรรยายในหัวข้อ การเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะในป่าชุมชน สรุปการบรรยายได้ว่า เห็ดเผาะเวลารับประทานจะกรอบ มีมากทางภาคอีสานและเหนือ มีราคาค่อนข้างแพง ในสภาพอากาศที่แห้งแล้งพืชอาศัยที่ดีสำหรับเห็ดเผาะเช่น กล้าไม้รัง ไม้พวง ส่วนในอากาศไม่แห้งแล้งไม้วงศ์ยางเป็นพืชอาศัยที่ดี ความรู้เกี่ยวกับเห็ดเผาะเหล่านี้จะนำไปสู่การเพาะเลี้ยงเห็ดในชุมชน เช่น 1. เห็ดเผาะแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ เห็ดเผาะฝ้ายและเห็ดเผาะหนัง โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ เห็ดเผาะฝ้ายจะมีเส้นใยรอบดอกมาก ฟู เกิดเป็นกลุ่ม ผนังด้านนอกของดอกมีสีขาว ส่วนเห็ดเผาะหนังมีเส้นใยรอบดอกเรียบมีน้อย เกิดกระจัดกระจาย ผนังด้านนอกของดอกมีสีดำ เห็ดเผาะเมื่อเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อจะสร้างเส้นใยที่มีโครงสร้างเฉพาะ  2. เห็ดเผาะอาศัยอยู่กับพืชแบบพึ่งพาโดยอาศัยธาตุอาหารซึ่งกันและกัน  3. จากการศึกษามาเป็นเวลานาน พืชอาศัยของเห็ดเผาะคือ ยางนา เห็ดเผาะอาศัยอยู่กับต้นสนสามใบได้แต่อาจไม่ดีเท่ายางนา หลังจากเห็ดเผาะอาศัยอยู่กับพืช รากของพืชจะบวมและเป็นฝ้าขาวๆ (เส้นใยของเห็ดเผาะที่มาห่อหุ้มไว้) ไม้วงศ์ยางอาจเป็นพืชอาศัยของเห็ดเผาได้  4. ความรู้ด้านการปลูกเชื้อ เอาเห็ดเผาะที่แก่ผสมน้ำแล้วรดที่รากของพืช รากจะมีเชื้อเห็ด  5. ความรู้เรื่องระบบนิเวศเกี่ยวกับปัจจัยแวดล้อมและพืชอาศัย

2. นายปราโมทย์ ไทยทัตกุล ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก บรรยายในหัวข้อ การเพาะเลี้ยงเห็ดในถุงพลาสติก สรุปการบรรยายได้ว่า การเพาะเลี้ยงเห็ดในถุงพลาสติก แบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอนคือ 1. การเลี้ยงเส้นใยเห็ดในอาหารวุ้น PDA (ประกอบด้วยมันฝรั่ง กลูโคส วุ้นผง น้ำ) ขั้นตอนนี้ยุ่งยากต้องทำในตู้ปลอดเชื้อ คนทั่วไปที่คิดจะเพาะเห็ดขายจะไม่ทำในขั้นตอนนี้  2. การเลี้ยงเส้นใยเห็ดในขวดข้าวฟ่าง ขั้นตอนนี้ยุ่งยากเช่นกัน คนทั่วไปไม่นิยมทำด้วยตนเอง  3. การเลี้ยงเส้นใยเห็ดในถุงพลาสติก ในถุงจะประกอบด้วยขี้เลื่อยไม้ยางพารา (หาได้ง่าย ราคาถูก ใช้กันเยอะ) รำละเอียด ยิปซั่ม ปูนขาว ดีเกลือ ผสมให้เข้ากันด้วยมือหรือเครื่อง แล้วปรับความชื้นไปที่ 60-65% แล้วนำถุงไปนึ่งภายในวันนั้น  4. การเปิดดอกเห็ดในโรงเปิดดอก ขั้นตอนนี้จะเกิดดอกเห็ดโผล่ออกมาจากถุงพลาสติก พร้อมที่จะเก็บไปขายหรือรับประทาน

3. คุณอุนารินทร์ กิจไพบูลทวี ผู้อำนวยการสถานีเห็ด บรรยายในหัวข้อ การเพาะเลี้ยงเห็ดในชุมชน และการขยายผล สรุปการบรรยายได้ว่า สถานีเห็ดตั้งอยู่ที่คลองสาม จังหวัดปทุมธานี มีการเพาะเลี้ยงเห็ด แปรรูปเห็ดแบบครบวงจร และยังเปิดสอนการเพาะเลี้ยงเห็ดสำหรับผู้ที่สนใจฟรี ในตอนแรกสถานีเห็ดตั้งขึ้นเพื่อเพาะเลี้ยงเห็ดตามความต้องการของลูกค้ารายใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาเกิดปัญหาในการควบคุมการผลิตให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า จึงหยุดส่ง จึงเป็นจุดเริ่มของสถานีเห็ดในการหันมาแปรรูปเห็ด ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น น้ำเห็ด (เห็ด 5 อย่างผสมน้ำผึ้ง) น้ำพริกเห็ดสูตรเผ็ดมากและเผ็ดน้อย (เห็ดสดผสมไฟเบอร์ (เนื้อเห็ดหลังจากการคั้นน้ำ)) เห็ดดอง

ที่มา: เรียบเรียงจากการฟังบรรยายในหัวข้อดังกล่าวข้างต้น– ( 1431 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− 2 = two

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>