ในปัจจุบัน เรื่องของความสวยความงามนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่กระแส มีคนให้ความสนใจกันไม่ว่าจะหญิงหรือชาย เรื่องราวเกี่ยวกับสารเติมเต็ม หรือ Filler และไฮยาฯ ที่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ จากข่าวพริตตี้สาวที่กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา จากการไปฉีดฟิลเลอร์กับหมอเถื่อนมาพอสมควร วันนี้จึงอยากจะพามาทำความรู้จักกับสารเติมเต็ม หรือ Filler และไฮยาลูรอนิค แอซิด กันเบื้องต้น
ฟิลเลอร์ มหัศจรรย์แห่งการเติมเต็ม ประโยชน์มากมาย แต่ถ้าใช้ผิด หรือเจอของปลอมก็อันตรายมหันต์
ฟิลเลอร์ หรือสารเติมเต็ม เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของการฉีดสารสังเคราะห์ที่เลียนแบบธรรมชาติ เพื่อความสวยงามเป็นส่วนใหญ่ ใช้ในการเสริมปรับรูปหน้าในตำแหน่งที่ต้องการให้นูนเด่น เช่น จมูก ขมับ หน้าผาก คาง ริมฝีปาก ร่องลึกใต้ตา ร่องน้ำตา ร่องแก้ม มุมปาก หรือโหนกแก้ม หรือใช้ฉีดเพื่อลดริ้วรอย รวมไปถึงเพิ่มสัดส่วนต่างๆ เช่น ตะโพก หน้าอก
แบบถาวร ก็เช่น ซิลิโคน เม็ดพลาสติก หรือสารตระกูลน้ำมันพาราฟิน ซึ่งคุณหมอห้ามฉีดเด็ดขาดอันตรายมากๆ เกิดผลข้างเคียงแน่นอน เพียงแต่ว่าจะปรากฏผลช้าหรือเร็วเท่านั้น อาจเกิดอาการแพ้แบบเฉียบพลัน หรือไม่เช่นนั้นในระยะยาวก็จะเกิดเป็นก้อน หรือไหล และอักเสบได้ อย.ไม่รับรอง ผิดกฎหมาย
แบบไม่ถาวร แบ่งเป็น ฟิลเลอร์จากสารสังเคราะห์ที่เรียกว่า “ไฮยาลูโรนิค แอซิด” (Hyaluronic Acid, HA) เรียกสั้นๆ ว่า “ไฮยาฯ” มีความปลอดภัยสูง มีการรับรองจาก อย. เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นเลียนแบบ Hyaluronic Acid หรือ HA
Hyaluronic Acid (HA) คือ กรดที่ร่างกายของเราผลิตขึ้นมา มีอยู่ทั่วไปตามร่างกาย และโดยเฉพาะบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างอวัยวะและเซลล์ เพื่อเพิ่มความต้านทานต่อการเสียดสีและเพิ่มความยืดหยุ่น เช่น จุดเชื่อมต่อบริเวณหัวเข่า สำหรับผิวหน้าของเรานั้น กรดตัวนี้จะถูกผลิตขึ้นและอยู่ในบริเวณผิวหนังชั้น Dermis (ผิวชั้นล่าง) เป็นสารอุ้มน้ำ ที่ทำหน้าที่คอยยึดจับโปรตีนคอลลาเจนเข้าไว้ด้วยกัน ถ้าหากมี HA สมบูรณ์มันจะช่วยให้ผิวหนังสามารถเก็บกักความชุ่มชื่นได้มากกว่า ทำให้ผิวหนังดูแน่น เนียน และชุ่มชื้น
เมื่ออายุมากขึ้น การผลิตกรดไฮยาฯ ตามธรรมชาติก็จะลดน้อยลง ผลก็คือผิวจะสูญเสียความชุ่มชื่น ผิวแห้งขึ้น และขาดความยืดหยุ่น สิ่งที่จะตามมาก็คือ ริ้วรอย จึงเป็นที่มาของการฉีดสารฟิลเลอร์นั่นเอง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันก็มีทรีทเมนต์ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารไฮยาฯ ใต้ผิวหน้งด้วยตัวเอง ชื่อว่า Deep Fractional RF โอกาสต่อไปจะได้หาเวลามาคุยกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีตัวนี้
สำหรับข้อเสียในการฉีดสารไฮยาฯ ก็คือ ถ้าฉีดในปริมาณมากเกินไป จะทำให้เกิดการจับตัวเป็นก้อนได้ เช่น การนำมาฉีดที่หน้าอก หรือตะโพก เป็นต้น ในกรณีที่ต้องใช้สารฟิลเลอร์จำนวนมาก ก็ควรจะใช้ฟิลเลอร์จากไขมันของตัวเอง
การสร้าง “ฟิลเลอร์” จากเซลล์ของตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้
“ฟิลเลอร์” อีกชนิดที่มีความปลอดภัยสูง ก็คือฟิลเลอร์จากเซลล์ไขมันของตัวเอง ซึ่งมีความปลอดภัยสูง เหมาะที่จะใช้เติมในสัดส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้ฟิลเลอร์จำนวนมาก อย่างหน้าอก และตะโพก แต่ก็มีข้อเสีย คือต้องใช้ระยะพักฟื้นนาน นอกจากนี้ การเสื่อมสลายของไขมัน มีความไม่แน่นอน ไขมันแต่ละส่วนเสื่อมสลายไม่เท่ากัน ทำให้ผิวหน้าอาจจะไม่สม่ำเสมอหรือหน้าผิดรูปได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีการคัดแยกเอาสเต็มเซลล์ออกมาจากไขมัน และฉีดกลับเข้าไปพร้อมกัน ก็จะทำให้ไขมันคงอยู่ได้นานขึ้น เสื่อมสลายช้าลง
ในปัจจุบันมีสารเติมเต็มปลอมที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย.ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีราคาถูก แต่ไม่มีใครยืนยันได้ถึงมาตรฐาน และคุณภาพ เป็นความเสี่ยงอย่างมาก ซึ่งสารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.อย่างถูกต้อง มีเพียงชนิดเดียวคือ สารไฮยาลูรอนิก แอซิด (Hyaluronic acid) เป็นยาที่นำเข้ามาจากประเทศแถบยุโรป และต้องใช้ในทางการแพทย์แก้ไขความพิการต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แม้แต่เป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์มาก มีความชำนาญสูงแล้วนั้น ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่น้อยลงเท่านั้นเอง นอกจากนี้ ในตำแหน่งที่จะฉีด บางตำแหน่งมีความเสี่ยงสูง ที่ฟิลเลอร์จะเข้าไปอุดตันเส้นเลือดได้ เช่น การฉีดเสริมจมูก ฉีดบริเวณหัวคิ้ว ที่อาจทำให้เกิดการตาบอด เพราะสารที่ฉีดเข้าไปนั้น ไปปิดกั้นเส้นเลือดที่จะไปหล่อเลี้ยงจอประสาทตา ดังนั้น ผู้ฉีดจึงควรเป็นแพทย์ผิวหนังที่มีความชำนาญ และได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ
สำหรับข้อควรระวังคือ ก่อนการรักษา คนไข้ต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวยา ข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หากผู้บริโภครายใดมีความประสงค์ ที่จะฉีดสารใดๆ เพื่อความสวยงาม ควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมายหากเกิดอันตรายจากการแพ้ ทางสถานพยาบาลก็จะรับผิดชอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที การลักลอบฉีดโดยหมอเถื่อน อาจได้รับสารฟิลเลอร์ปลอม หรือไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ผิดทั้งกฎหมายและมีผลเสียที่ร้ายแรงอันตรายถึงชีวิต ที่ผ่านมา อย.ได้ตรวจสอบคลินิกและสถานยาบาลเสริมความงาม พบว่ามีการนำสารฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน นำมาใช้ในสถานพยาบาล ซึ่ง อย.มีการเตือน และตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอยู่เสมอ
รายการอ้างอิง :
‘ฟิลเลอร์’ พระเอก หรือผู้ร้ายสำหรับความงาม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thairath.co.th/content/life/295377. (วันที่ค้นข้อมูล 8 ตุลาคม 2555).
อย.เผยฟิลเลอร์ขึ้นทะเบียนมีชนิดเดียว ใช้เฉพาะแพทย์เชี่ยวชาญ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thairath.co.th/content/edu/296258. (วันที่ค้นข้อมูล 8 ตุลาคม 2555).
– ( 399 Views)