ปรากฏการณ์เรดไทด์ (red tide) หรือเรียกกันว่า ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ” แต่จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากขี้ปลาวาฬแต่อย่างใด
ปรากฏการณ์เรดไทด์ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจากการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติของสาหร่ายเซลล์เดียว เช่น พันธุ์คาเรเนีย เบรวิส จึงทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีไปเป็นสีเดียวกับสาหร่ายเซลล์เดียวที่ขึ้นในบริเวณนั้น เช่น สีน้ำตาล สีแดง หรือ สีเหลือง การเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้บางครั้งเกิดเป็นวงกว้าง จากเหตุการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ในท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ หรือ แม้กระทั่งมนุษย์ เนื่องจากสาหร่ายเหล่านี้เมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็จะทำให้ออกซิเจนในน้ำทะเลนั้นลดลง และสาหร่ายเซลล์เดียวเหล่านี้ก็ได้ปล่อยสารพิษลงสู่น้ำทะเลรอบข้าง ส่งผลให้สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตาย หรืออาจจะมีสารพิษตกค้างอยู่ และหากเรารับประทานเข้าไปเราอาจจะได้รับพิษ หรือเกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้
ปรากฏการณ์เรดไทด์ เกิดขึ้นได้อย่างไรยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่คิดว่าอาจจะเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเล ความเค็ม และ ปริมาณสารอาหาร ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยหลักในการก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรดไทด์ขึ้นได้ มนุษย์ก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยหลักที่อาจจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้ก็เพราะบางครั้งเผลอทิ้งขยะลงสู่ทะเลโดยไม่ตั้งใจ และเมื่อขยะมีจำนวนมากขึ้นก็จะเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ให้กับสาหร่ายเซลล์เดียว ทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวนั้นสามารถแพร่ขยายประชากรได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นหากไม่อยากให้เกิดปรากฏการณ์เรด์ไทด์ เราต้องช่วยกันลดปัญหาขยะในท้องทะเลลง เพื่อให้สัตว์น้ำได้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยตามระบบนิเวศ
และจากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ องค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐ ฯ หรือ โนอา (National Oceanic and Atmosphere Administration : NOAA) ได้เผยผลการวิจัยละอองสารพิษจากสาหร่ายในทะเล ขณะเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีหรือเรดโทด์ (red tide) มีฤทธิ์ทำลายดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อปอดหากสูดหายใจเข้าไป และอาจก่อให้เกิดมะเร็งลุกลามตามมาได้ ศูนย์วิจัยชีวโมเลกุลและอนามัยสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง โนอา ได้ศึกษาอันตรายของสารพิษจากเรดไทด์ในหนูทดลอง ซึ่งเป็นสารพิษประเภทเบรวีท็อกซิน (Brevetoxin) สร้างจากสาหร่ายชนิดคาเรเนีย เบรวิส พบว่า เบรวีท็อกซินสามารถทำปฏิกิริยากับดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อปอดได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งตามมาในภายหลัง และยังอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในยีนที่ยับยั้งการเกิดมะเร็ง โดยธรรมชาติเมื่อสารพิษเข้าสู่ปอดจะไม่ ออกฤทธิ์ในทันที แต่จะมีกระบวนการที่ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของสารพิษดังกล่าว จากที่ไม่แสดงความเป็นพิษให้ออกฤทธิ์ทำลายดีเอ็นเอได้ ทั้งนี้ เรดไทด์หรือน้ำทะเลเปลี่ยนสี เกิดจากการที่สาหร่ายหรือแพลงก์ตอนพืชแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า แอลจีบลูม ทำให้น้ำทะเลบริเวณนั้นมีสีเปลี่ยนไปจากเดิม และเมื่อเราบริโภคหอยเหล่านั้นที่กินแพลงก์ตอนก็จะได้รับสารพิษเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับเมื่อเราสูดหายใจเอาสารพิษที่ปะปนอยู่ในละอองจากทะเลเข้าปอดก็จะได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว และการได้รับสารพิษจำพวกทำอันตรายต่อดีเอ็นเอหรือสารก่อมะเร็งจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ควันบุหรี่หรือมลพิษในอากาศ ก็อาจเป็นไปได้ว่าสารพิษเหล่านี้จะสะสมอยู่ในร่างกายและมีผลทำลายดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อปอดร่วมกันได้
แหล่งที่มา :
“เปิดโลกชีวภาพ : ปรากฏการณ์เรดไทด์”. สานสุข สานความสุขสู่สังคม. 2 : 34 ; กันยายน-ตุลาคม 2555.
เตือนภัยน้ำทะเลเปลี่ยนสี สาหร่ายเป็นพิษหายใจเข้าปอดเสี่ยงมะเร็ง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้ที่ : http://www.navy.mi.th/sctr/navynews/2551/july/nvn230751.php. (วันที่ค้นข้อมูล 6 พฤศจิกายน 2555).– ( 2508 Views)