magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ข่าวเทคโนโลยี ‘รถตัดอ้อย’ฝีมือคนไทย ความสำเร็จที่ส่งออกสู่ตลาดโลก
formats

‘รถตัดอ้อย’ฝีมือคนไทย ความสำเร็จที่ส่งออกสู่ตลาดโลก

ปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเจริญรุดหน้าไปไม่รวดเร็วเท่าที่ควร คือการขาดการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หน่วยงานเอกชนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลางยังขาดศักยภาพในด้านการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมดังกล่าว เป็นผลให้ธุรกิจการผลิตของเอกชนมีข้อจำกัดในด้านความสามารถ ในการปรับปรุงคุณภาพ ผลิตภัณฑ์และการเพิ่มผลผลิต

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัด “โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน” เพื่อให้ความช่วยเหลือ “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” แก่เอกชนในภาคอุตสาหกรรม โดยทางคณะสื่อมวลชนได้เข้าเยี่ยมชม โรงงานห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ เพื่อดูกระบวนการผลิตรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย และความคืบหน้าของโครงการที่ได้รับการสนับสนุน “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” จาก สวทช. พร้อมมอบรถตัดอ้อยฝีมือคนไทยให้แก่ H.E. Mr.Paulo Cesar Meira De Vasconcellos  เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐบราซิลประจำประเทศไทย เนื่องจากบราซิลเห็นว่ารถตัดอ้อยที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทยนั้น มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ แต่ราคากลับถูกกว่า

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. เล่าถึงที่มาของโครงการว่า โครงการนี้เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระความเสี่ยงในการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนส่วนหนึ่ง รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานวิจัยและพัฒนาของเอกชน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าระดับนานาชาติ โดยให้การสนับสนุนด้านการเงินในรูปแบบ “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” แก่เอกชนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมไปถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเพื่อลงทุนพัฒนาขีดความสามารถในการทำการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมขึ้นภายในองค์กรเอกชน

“ทางห้างหุ้นส่วนจำกัดสามารถเกษตรยนต์ได้ขอเข้ารับการสนับสนุนจาก สวทช. โดยโครงการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อพัฒนาชิ้นส่วนของรถตัดอ้อยและปรับปรุงกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดย สวทช.ได้อนุมัติงบประมาณวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 45 ล้านบาท เพื่อให้ทาง หจก.สามารถเกษตรยนต์ ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการใช้งานการตัดอ้อย และเพื่อลดต้นทุนที่ต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศ” ผู้อำนวยการ สวทช.เล่าสามารถ ลี้ธีระนานนท์ กรรมการผู้จัดการ หจก.สามารถเกษตรยนต์ เล่าถึงโครงการที่ได้รับการสนับสนุน “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” จาก สวทช.ว่า ทางโรงงานได้พัฒนาและปรับปรุงชิ้นส่วนของรถตัดอ้อยและปรับปรุงกระบวนการผลิต ในระดับอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็น 2 โครงการ

“โครงการแรก สวทช.อนุมัติเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำให้ด้วยวงเงินกว่า 15 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตชุดมีดสับท่อน (Chop Bar) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย โดยนำเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้นมาใช้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความละเอียดแม่นยำ มีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียที่เกิดจากการผลิต และพัฒนาชุดเกียร์เดินรถ (Final Drive) ให้เหมาะสมกับรถตัดอ้อยของโรงงาน เนื่องจากปัจจุบันต้องสั่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถรองรับกับน้ำหนักรถตัดอ้อยของโรงงานได้ จึงทำให้ไม่ทนทานเกิดการแตกร้าวได้ง่าย” สามารถเล่าสามารถยังบอกอีกว่า ส่วนโครงการที่สอง ได้รับอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อให้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตและประกอบโครงรถตัดอ้อย และรถคีบอ้อยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ให้สามารถผลิตชิ้นส่วนได้ตรงตามแบบที่วิศวกรออกแบบรอยตัดที่ได้จะมีความเรียบ และสามารถนำไปประกอบกับชิ้นส่วนอื่นได้พอดี ไม่ต้องทำการปรับแต่งเพิ่มอีก อีกทั้งยังสามารถใช้แขนกลอัตโนมัติในการเชื่อมได้ โครงสร้างมีความแข็งแรง มีน้ำหนักเบา และกลไกที่ใช้ไม่ติดขัด

“โครงการนี้นับเป็นโครงการที่ดีทำให้รถตัดอ้อยที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เหมาะสมกับเกษตรกรและสภาพไร่อ้อยในประเทศไทย สามารถตัดอ้อยได้ทุกสภาพแปลง อีกทั้งกลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อยที่มีประสิทธิภาพจะไม่ดึงต้นอ้อยออกจากพื้นดิน ไม่ส่งผลกระทบกับตออ้อยที่สอง และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดอ้อยได้เฉลี่ย 80-100 ตันต่อวัน ซึ่งแตกต่างจากรถตัดอ้อยทั่วไปที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างสูง”และรถตัดอ้อยยังได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ประเทศบราซิล ที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศเป็นภาคการเกษตร มีการปลูกอ้อยกันมากที่สุด สนใจสั่งรถตัดอ้อยนำเข้าประเทศประมาณ 7 คัน ประเทศอินเดีย 20 คัน ประเทศกัมพูชา 10 คัน ประเทศอินโดนีเซีย 5 คัน และประเทศไทย 20 คัน”

หากภาคธุรกิจใดสนใจร่วมปรึกษาได้ที่ โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คอลเซ็นเตอร์ โทร.0-2564-8000 และเว็บไซต์ www.nstda.or.th/cd

ที่มา : ‘รถตัดอ้อย’ฝีมือคนไทย ความสำเร็จที่ส่งออกสู่ตลาดโลก. มติชน. (9 ตุลาคม).– ( 529 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


7 − three =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>