แค่ลวดจัดฟันเส้นเล็ก ๆ ใครคิดว่า “ไม่สำคัญ” หากวัสดุที่นำมาใช้นั้นไม่มีคุณภาพที่ดีพอ ก็สามารถที่จะก่อปัญหาได้มากมาย
ทีมนักวิจัยรุ่นใหม่จากบริษัทสมาร์ทแมท อินโนเวชั่น จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาลวดจัดฟันจากสิ่งที่เรียกว่า “วัสดุฉลาด” และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 26 โครงการที่ได้รับทุนในการพัฒนาต้นแบบจากโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” ที่ “ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ” ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีหน้าใหม่
“นายกิตติคุณ วิชัยรัตน์” ผู้จัดการทั่วไป ของสมาร์ทแมท บอกว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายรองรับงานวิจัยจากสมาร์ทแล็บ ภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อให้เกิดการต่อยอดจากผลงานการคิดค้นในห้องปฏิบัติการ ออกสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อการใช้งานจริง และ “วัสดุฉลาด” ก็ เป็นผลงานการพัฒนาของทีมวิจัยจากสมาร์ทแล็บ ซึ่งมี ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ เป็นผู้นำทีมและริเริ่มการพัฒนา โดยเน้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัสดุฉลาดประเภทโลหะผสมจำรูปโดยตรง
กิตติคุณ อธิบายถึงวัสดุฉลาดว่า เป็นวัสดุที่ถูกคิดค้นขึ้นมา และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งวัสดุฉลาดนี้เกิดจากการนำธาตุไทเทเนียม มาผสมกับธาตุอื่น ๆ เช่น นิเกิล แล้วนำไปผ่านกระบวนการทางความร้อน และทางกลด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อให้เกิดคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างกันวัสดุดังกล่าวมีคุณสมบัติพิเศษคือ จำรูปร่างตัวเองได้เมื่ออยู่ที่ ณ อุณหภูมิหนึ่งๆ คือ เมื่อมีแรงกระทำจะเปลี่ยนแปลงรูปร่าง แต่สามารถกลับคืนรูปเดิมได้เมื่อใช้ความร้อนถึงอุณหภูมิที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่มีสมบัติในการยืดหยุ่นยิ่งยวด โดยเมื่อมีแรงมากระทำ จะสามารถยืดออกได้มากกว่าโลหะทั่วไป และหากปล่อยแรงวัสดุทั่วไป และหากปล่อยแรงวัสดุจะกลับคืนรูปเดิมทันที ทีมวิจัยจึงนำวัสดุฉลาดที่คิดค้นขึ้นมาประยุกต์ใช้ในการผลิตลวดจัดฟัน เพื่อใช้งานทดแทนลวดที่ผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิมหรือสเตนเลสสตีล ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
ด้านนายนริศรา ต่อสุทธิ์กนก ทีมงานด้านการตลาด บอกว่าลวดจัดฟันที่พัฒนาขึ้นนี้ จะมีความยืดหยุ่นสูงกว่าลวดจัดฟันที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมถึง 10 เท่า ช่วยให้ผู้จัดฟันไม่รู้สึกเจ็บเหมือนการใช้ลวดตามท้องตลาดทั่วไปที่มีความแข็งสูงจนเกิดการกระชาก และทำลายเซลล์รากฟันได้
ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการนำเข้าลวดจัดฟันทั้งลวดแบบเหล็กกล้าไร้สนิมและจากวัสดุฉลาดประมาณ 300-500 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีนโดยเฉพาะลวดจัดฟันจากวัสดุฉลาดยังไม่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย เนื่องจากต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง ส่วนผสมที่คลาดเคลื่อนเพียง 0.1% ก็สามารถทำให้คุณสมบัติของวัสดุเปลี่ยนแปลงไป และกระบวนการปรับปรุงคุณสมบัติต่าง ๆ ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและการวิจัยพัฒนาอย่างลึกซึ้ง
ทั้งนี้ตัวเลขการนำเข้าวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยอยู่ที่ 25,000 ล้านบาทในปัจจุบัน หากสามารถผลิตได้เองในประเทศ จะช่วยลดการนำเข้าสินค้าทางการแพทย์ได้อย่างมหาศาล
ผู้ประกอบการเทคโนโลยีหน้าใหม่ บอกว่า นอกจากการประยุกต์เอาวัสดุฉลาดมาใช้งานในด้านทันตกรรม ซึ่งมีลวดจัดฟันเป็นสินค้าตัวแรกที่จะออกมาประมาณต้นปีหน้าแล้ว สินค้าตัวต่อไปก็คืออุปกรณ์ดามกระดูก ซึ่งเป็นผลงานจากทาง สมาร์ทแล็บ และสวทช. ที่วิจัยและสร้างวัสดุต้นแบบขึ้นจากไทเทเนียมผสมโดยปราศจากนิเกิล ซึ่งเป็นสารที่อาจเป็นพิษต่อร่างกายหากมีการหลุดร่อนออกมา โดยที่ดามกระดูกที่สร้างขึ้นมาใหม่ จะมีสมบัติใกล้เคียงกับกระดูกจริงและเกิดจากการผสมของธาตุที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ระหว่างการทำมาตรฐานระดับสากล คาดว่าจะแล้วเสร็จและขายได้ในกลางปีหน้า และพร้อมจะโกอินเตอร์ไปทั่วอาเซียนให้ได้ภายใน 3 ปี
ที่มา : ‘ลวดจัดฟัน’ จากวัสดุฉลาด. เดลินิวส์. (13 พฤศจิกายน 2555)– ( 187 Views)