จมูกมนุษย์มีข้อจำกัดในการรับรู้กลิ่นหลายประการ จึงเกิดแนวคิดในการจำลองระบบการรับกลิ่นเพื่อเลียนแบบจมูกมนุษย์ ด้วยการสร้างอุปกรณ์ที่เรียกว่า จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Nose) ขึ้นมา และปัจจุบันได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้หลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบ การเสื่อมสภาพของอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร การปนเปื้อนหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิต ด้านสิ่งแวดล้อมใช้ตรวจสอบคุณภาพอากาศ และแจ้งเตือนก๊าซมลพิษที่มีการเจือปนในอากาศ เป็นต้น
“ทีมนักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจสอบกลิ่นแบบพกพา ด้วยเทคนิคการคำนวณแบบใหม่ ช่วยลดผลกระทบจากความชื้นและอุณหภูมิ ลดความซับซ้อนส่วนประกอบของเครื่อง และเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ผล”
อย่างไรก็ตาม การทำงานของจมูกอิเล็กทรอนิกส์ยังพบปัญหาเรื่องความชื้นและอุณหภูมิขณะทำการวัดซึ่งส่งผลต่อการตอบสนองของก๊าซเซนเซอร์ที่ใช้ทำจมูกอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ผลการวัดเกิดความผิดพลาด จึงได้มีความพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการติดตั้งระบบปั๊มเพื่อควบคุมรูปแบบการเคลื่อนที่ของกลิ่นทดสอบขณะผ่านหัววัด หากแต่วิธีการนี้ทำให้การรับกลิ่นนั้นไม่เป็นไปตามการรับรู้กลิ่นของจมูกมนุษย์ตามสภาพจริง ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาขึ้น โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ส่วนประกอบสำคัญ (Principle Component Analysis: PCA) ในการประมวลผล การวิเคราะห์วิธีนี้ช่วยตัดปัจจัยที่มีตัวแปรความชื้นและอุณหภูมิออกไปจากองค์ประกอบที่คำนวณได้ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อผลการตรวจสอบกลิ่น
ปัจจุบัน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ทำการพัฒนาเครื่องต้นแบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงกับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (เมล็ดกาแฟคั่วบด, ชา, น้ำพริกเผา, ผลไม้อบแห้ง, บรรจุภัณฑ์น้ำดื่ม, น้ำผักและผลไม้, กลิ่นสังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์อาหาร) เครื่องหอม (ดอกบุหงารำไป) สินค้าอุปโภค (ผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก) เป็นต้น ผลจากการประยุกต์ใช้งานกับภาคอุตสาหกรรมพบว่าประสิทธิภาพความแม่นยำของเครื่องในการตรวจวัดกลิ่นตัวอย่างเปรียบเทียบกับกลิ่นต้นแบบมีความแม่นยำในจำแนกกลิ่นได้มากกว่าร้อยละ 80
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจสอบกลิ่นแบบพกพา (Portable E-nose)
หากสนใจสามารถติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
งานพัฒนาธุรกิจ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทรศัพท์ 0 2564 7100 ต่อ 6600 , 6601 , 6603 , 6650 , 6680
e-Mail : business_development@nanotec.or.th– ( 246 Views)