magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home วิทยาศาสตร์ ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน
formats

ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน

ในร่างกายของเรามีฮอร์โมนตัวหนึ่งซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน”  เพราะฮอร์โมนชนิดนี้ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผูกพัน  อบอุ่น คลายกังวล  และรู้สึกปลอดภัย  เช่น  ความรู้สึกรักในพ่อแม่  เป็นความรักที่มีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น ความรู้สึกที่ไม่ตื่นเต้น  แต่มีความอบอุ่นลึกซึ้ง ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนี้  เป็นความรู้สึกที่ได้รับผลกระทบมาจาก “ฮอร์โมนออกซิโทซิน”

ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ผลิตจาก neurosecretory cell  (เซลล์ประสาทที่ผลิตฮอร์โมน)  2 ชนิดคือ  paraventricular nucleus (PVN)  และ supraoptic nucleus (SON) ในสมองส่วนไฮโพทาลามัส  เมื่อผลิตแล้วจะเคลื่อนผ่านไปตามปลายประสาทแอกซอน  และถูกเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง  นอกจากนี้ฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินยังสามารถผลิตได้จากเซลล์รังไข่  และอัณฑะได้อีกด้วย

หน้าที่ของฮอร์โมนออกซิโทซิน

  1. กระตุ้นการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกของหญิงมีครรภ์ ในการคลอดบุตร ในระยะใกล้คลอด
  2. กระตุ้นการหลั่งน้ำนม (milk ejection) ทำให้กล้ามเนื้อของต่อมน้ำนม บีบตัวให้หลั่งน้ำนมออกมา เมื่อน้ำนมถูกสร้างขึ้นจะไปเก็บไว้ในถุงน้ำนม
  3. ฮอร์โมนออกซิโทซินจะกระตุ้นให้มารดามีพฤติกรรมในการเลี้ยงบุตร ซึ่งเชื่อว่าฮอร์โมนนี้เป็นตัวกระตุ้นให้มารดามีความต้องการ ในการเลี้ยงดูทารก นอกจากนี้จะพบว่า ในมารดาที่ให้บุตรดูดนมของตนเอง จะมีความรักใคร่ผูกพัน ทารกมากกว่ามารดาที่ไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยนมตนเอง

นอกจากจะสร้างความผูกพันให้เกิดในระหว่างแม่ลูกแล้ว  ออกซิโทซิน  ยังสร้างความผูกพันให้เกิดระหว่างคู่รักได้เช่นกัน

โดยพบว่า ในเพศหญิงและชาย  ฮอร์โมนอ๊อกซิโทซิน  จะถูกหลั่งออกมาในขณะที่มีเพศสัมพันธ์กัน  ทำให้คู่รักเกิดความรู้สึกใกล้ชิดและสนิทสนมกันมากขึ้น และเกิดพฤติกรรมรักเดียวใจเดียว  อีกทั้งยังพบว่า  ในคนที่กำลังตกหลุมรัก  จะมีระดับของฮอร์โมนออกซิโทซินมากขึ้นกว่าคนปกติอีกด้วย

มีงานวิจัยหลายชิ้นได้ทำการทดลองเกี่ยวกับฮอร์โมนออกซิโทซิน  จนเมื่อเร็ว ๆ นี้  มีงานวิจัยจาก University of Bonn ประเทศเยอรมนี  ได้ทดลองโดยนำกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาย  ทั้งคนโสดและมีแฟนแล้วแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม  กลุ่มแรกได้รับการฉีดสเปรย์ฮอร์โมนออกซิโทซินเข้าทางจมูก  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับสเปรย์ยาหลอก  และนำหญิงสาวสวย หน้าตาดี  เข้ามาพูดคุยด้วย  พบว่า  ชายที่ได้รับการฉีดฮอร์โมนออกซิโทซิน  จะรักษาระยะห่างจากหญิงสาวสวยมากกว่าชายที่ได้รับสเปรย์ยาหลอก  และยังพบว่าฮอร์โมนออกซิโทซิน ไม่มีผลแต่อย่างใดกับชายที่ยังโสดหรือไม่มีแฟน

ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหมดทั้งมวลนี้  อ๊อกซิโทซินจึงได้ชื่อว่าเป็น “ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน”  หรือบางครั้งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ฮอร์โมนแห่งความรัก”  เพราะมันทำให้เกิดความรู้สึกสนิทสนม  ผูกพัน คลายกังวล   รู้สึกอบอุ่น  และปลอดภัยนั่นเอง

รายการอ้างอิง :

ออกซิโทซิน (Oxytocin). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www3.ipst.ac.th/research/assets/web/mahidol/hormone(9)/chapter2/oxytocin.htm. (วันที่ค้นข้อมูล 6 ธันวาคม 2555).

ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน!!. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.vcharkarn.com/varticle/44224. (วันที่ค้นข้อมูล 6 ธันวาคม 2555).– ( 285 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


2 + = eleven

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>