magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Health ภัยจากน้ำหอม
formats

ภัยจากน้ำหอม

ค่าความนิยมในเรื่องความสวยความงามสำหรับผู้หญิง ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ไม่มีวันเสื่อมคลาย ไม่เฉพาะกับเรื่องการแต่งกาย แต่งหน้าทำผมเท่านั้น การใช้น้ำหอมก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการเติมเสน่ห์ให้กับตนเอง แต่คุณ รู้หรือไม่ว่า น้ำหอมหรือโคโลญจน์ ที่คุณใช้กันอยู่เกือบทุกวันนั้น ไม่ว่าจะราคาถูกในหลักร้อย หรือราคาแพงในหลักพัน หลักหมื่น ล้วนมีอันตรายแอบแฝงที่คุณคาดไม่ถึง

น้ำหอมหรือโคโลญจน์ที่คุณใช้กันอยู่นั้นล้วนมีส่วนผสมของสารเคมีสังเคราะห์ โดยสารเคมีเหล่านี้จะถูกนำมาผสมปรุงแต่งให้เป็นกลิ่นต่างๆ ซึ่งสารเคมีบางชนิดที่ใช้ในการทำน้ำหอมหรือโคโลญจน์นี้เป็นสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะน้ำหอมที่ใช้สารสังเคราะห์จำพวกปิโตรเลียม เช่นอนุพันธ์ของเบนซีนและอัลดีไฮด์ (Aldehyde) สารพทาเลท (phthalate) สารพาราเบน (paraben) หรือสารฟีนอล (phenol) ฯลฯ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านสุขอนามัย Environmental Working Group (EWG) เป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อปกป้องผู้บริโภคจากสารเคมีอันตรายไม่ว่าจะในอาหาร น้ำ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยครั้งนี้กลุ่ม EWG ได้ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์น้ำหอมและโคโลญจน์ ได้ยกตัวอย่างกลิ่นที่ใช้สารเคมีอันตรายปรุงแต่งเช่น กลิ่นกุหลาบ กลิ่นกุหลาบที่ใช้ในน้ำหอมไม่ใช่กลิ่นที่เกิดจากการสกัดจากดอกกุหลาบแต่อย่างใด แต่เป็นกลิ่นที่เกิดจากการปรุงแต่งจากสารเคมีหลายๆ ชนิด จากสารเคมีมากกว่า 3,100 ชนิดที่ทางโรงงานผลิตน้ำหอมเก็บไว้ มาผสมกันจนเกิดเป็นกลิ่นกุหลาบขึ้น ซึ่งส่วนผสมหรือสารเคมีที่ใช้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นกลิ่นกุหลาบนี้มักจะถูกซ่อน ไว้ไม่ให้ผู้บริโภครับรู้ ซึ่งสารเหล่าบางชนิดเป็นสารเคมีอันตรายร้ายแรง

กลุ่ม EWG จึงได้จัดกิจกรรมการรณรงค์เรื่อง “เครื่องสำอางปลอดภัย” โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 กลุ่ม โดยทำการตรวจสอบหาสารเคมีที่ใช้ในเครื่องสำอางแต่ไม่ปรากฏบนฉลากของผลิตภัณฑ์ โดยในการรณรงค์ครั้งนี้ได้ว่าจ้างให้ห้องปฏิบัติการอิสระทำการตรวจสอบน้ำหอมชั้นนำจำนวน 17 ยี่ห้อ พบว่ามีสารเคมีไม่ทราบชนิดหรือสารเคมีลับที่ไม่ระบุอยู่ข้างบรรจุภัณฑ์มากถึง 38 ชนิด ซึ่งมีรายชื่อของแบรนด์ชั้นนำที่เป็นที่นิยมติดอยู่ในรายชื่อนั้นด้วย

จากข่าวของสำนักข่าว AFP ได้รายงานผลการศึกษาของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา (EWG) ระบุว่า เครื่องสำอางชื่อดังที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทั่วโลก มีสารอันตรายเจือปน สามารถทำให้สตรีคลอดลูกออกมาพิการได้ สารอันตรายดังกล่าวมีชื่อว่า “พทาเลท (Phthalate)” เป็นสารเคมีที่ใช้ละลายผสมในน้ำหอมและเครื่องสำอางเพื่อทำให้น้ำหอมมีกลิ่น ติดทนนาน โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านสุขอนามัยแห่งสหรัฐอเมริกาได้นำผลิตภัณฑ์ ความงามที่วางจำหน่ายในตลาดไปทดสอบแล้วพบว่าในน้ำหอมมีสาร “ พทาเลท” เจือปนอยู่ในผลิตภัณฑ์ถึงร้อยละ 72 ในจำนวนผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบพบว่ามีเครื่องสำอางยี่ห้อดังระดับโลกหลายยี่ห้อรวมอยู่ด้วย

กลุ่ม EWG ได้ยกตัวอย่างสารเคมีอันตรายของพทาเลทในรูปอื่นๆ เช่น สารไดเอทธิล พทาเลท (diethyl phthalate) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอเมริกันมากถึง 97% และจากการศึกษาพบว่าสารนี้อาจมีผลทำให้อสุจิถูกทำลาย และและสาร musk ketone เป็นสารที่ใช้เป็นสารให้กลิ่นหอมในน้ำหอม  มีคุณสมบัติตกค้างยาวนานมากและสะสมได้ดีมากในสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน และเต้านม

ทางด้านนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) เมืองนิวออลีน สหรัฐอเมริกา พบว่ามีน้ำหอมจำนวน 38 ชนิดที่สามารถสร้างปัญหาให้ระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด (Asthma)นอกจากนี้ยังพบสารเคมีอันตรายชนิดอื่นที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม เช่น Acetone (C3H6O) ใช้เป็นยาละลายสารอื่น ซึ่งเป็น “สารก่อมะเร็ง (carcinogen)” มักใส่ในน้ำยาล้างเล็บ และ Benzyl acetate เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งอีกตัวที่สร้างความระคายเคืองให้นัยน์ตาและทำให้หายใจไม่ออก

ปัญหาของสารเคมีอันตรายที่ใช้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นกลิ่นหอมและไม่ต้องแสดงส่วนประกอบเหล่านี้บนฉลาก เนื่องจากมีช่องโหว่ขนาดใหญ่จากบทบัญญัติการแสดงฉลากที่เป็นธรรมของปี 1973 ที่ระบุว่า “รายการส่วนผสมของเครื่องสำอางที่ต้องระบุบนฉลากนั้นไม่รวมถึงกลิ่นหอมที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์” และอุตสาหกรรมเครื่องหอมทั่วโลกมีกฎหมายปกป้องความลับทางการค้าคุ้มครอง ทำให้ไม่ต้องเปิดเผยสูตรสำคัญ เพื่อเป็นความลับทางการค้า ดังนั้น อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั้งหมดจึงไม่แสดงส่วนผสมของกลิ่นหอมที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ ทั้งๆ ที่สารที่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

แต่เพื่อปกป้องและเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค เมื่อเร็วๆ นี้เครือข่ายสุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งแคลิฟอร์เนียได้ยื่นฟ้องต่อองค์การอาหาร และยาสหรัฐฯ ให้ประกาศว่าน้ำหอมกลิ่น Eternity ของคาลวินไคลน์ ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคไม่ครบถ้วน โดยไม่มีฉลากเตือนว่าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่มีการทดสอบความปลอดภัยที่เพียงพอ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ของหน่วยงานอิสระพบว่ามีส่วนประกอบของสารเคมีที่อยู่ในบัญชีของเสียอันตรายซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท

นอกจากนี้ พิษภัยได้ที่ซ่อนเร้นอีกประการของน้ำหอมที่ไม่ควรมองข้ามไปก็คือ มีฤทธิ์ทำให้กลายเป็นคนซึมเศร้า น้ำหอมกลิ่นแรงทำพิษกับหญิงสวย หลังจากคณะนักวิจัยค้นพบว่าผู้หญิงที่ชอบใช้ น้ำหอม กลิ่นแรงๆ ไปนานๆ จะทำลายสุขภาพกลายเป็น โรคซึมเศร้า แถมสูญเสียความไวของประสาทการได้กลิ่นจนอาจกลายเป็นโรคร้ายแรงได้

หนังสือพิมพ์รายวัน “เดลี่ เทเลกราฟ” ชื่อดังของอังกฤษเสนอข่าวว่า คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทล อาวีฟ ที่อิสราเอล ศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ชอบใช้น้ำหอมกลิ่นแรงๆ ไปนานๆ จนชักคุ้นกลิ่นจะมีอาการที่ทางการแพทย์ถือว่าเป็นอาการซึมเศร้าลงเรื่อยๆ ขึ้นได้

ศาสตราจารย์เยอุดา โชนเฟลด์ ผู้เป็นหัวหน้าเปิดเผยผลการศึกษาต่อไปว่า “การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ส่อว่า ผู้หญิงผู้นั้นยังจะพลอยสูญเสียความไวของประสาทการได้กลิ่นลงไปด้วย ทำให้ยิ่งใช้น้ำหอมหนักมือขึ้น”

คณะนักวิจัยยังได้พบว่า โรคบางโรคก็อาจทำให้ร่างกายไปโจมตีระบบรับกลิ่นเข้าทำให้เสียความรู้สึกรับ กลิ่นไป ซึ่งก็หมายว่าการที่ความรู้สึกรับกลิ่นเสียหาย ยังอาจเป็นเครื่องชี้ถึงอาการที่ร้ายแรงอื่นๆ อีกด้วย

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ถึงแม้น้ำหอมจะทำให้เราดูมีเสน่ห์ เสริมสร้างความมั่นใจ แต่ก็โทษมากมายเช่นกัน การเลือกใช้น้ำหอมนั้นไม่ว่าน้ำหอมนั้นจะมีราคาถูกหรือแพง จะเป็นหัวน้ำหอมแท้หรือน้ำหอมที่ได้รับการเจือจางแล้วก็ตาม ก็ต้องจะพิจารณาก่อนที่จะเลือกซื้อเพื่อให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป และไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นแล้วเวลาที่ใช้น้ำหอมควรคิดถึงคนรอบข้างด้วย เช่น คำนึงถึงคนรอบตัวที่แพ้น้ำหอม หากเราใช้กลิ่นที่ฉุนหรือใส่ปริมาณมากเกินไป อาจทำให้คนเหล่านั้นเกิดอาการจามเนื่องจากการแพ้ได้

รายการอ้างอิง :

น้ำหอมที่คุณใช้..เป็นพิษหรือเปล่า?. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thaipost.net/x-cite/020512/56190. (วันที่ค้นข้อมูล 7 ธันวาคม 2555).

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ. มนุษย์ซึมเศร้า[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thairath.co.th/column/oversea/worldwide/256051. (วันที่ค้นข้อมูล 7 ธันวาคม 2555).

Hippofat. “น้ำหอม” ภัยที่ใกล้ตัวคุณ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.vcharkarn.com/varticle/44159. (วันที่ค้นข้อมูล 7 ธันวาคม 2555).– ( 1314 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


× 5 = twenty five

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>