Joanna Holbrook นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Singapore Institute for Clinical Sciences กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมในช่วงต้น เช่น รูปแบบการคลอด รูปแบบการให้อาหาร ช่วงระยะเวลาในการคลอด และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย อาจมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของทารก จำนวนจุลินทรีย์ในลำไส้ และปริมาณไขมันในร่างกายของทารกในอนาคต โดยเชื่อว่า ปริมาณจุลินทรีย์ที่พบในลำไส้ทารกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารกในภายหลัง จากการศึกษานี้ Holbrook และทีมนักวิจัยทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า 16s rRNA Sequencing เป็นการวิเคราะห์และเปรียบเทียบจุลินทรีย์ในตัวอย่าง ทีมนักวิจัยศึกษาจากตัวอย่างอุจจาระของทารกจำนวน 75 คน ซึ่งคลอดตามธรรมชาติและคลอดโดยการผ่าท้องที่เข้าร่วมในโครงการ GUSTO (Growing Up in Singapore Toward Healthy Outcomes) โดยนักวิจัยศึกษาตัวอย่างอุจจาระเมื่อทารกมีอายุครบ 3 วัน 3 สัปดาห์ 3 เดือน และ 6 เดือน จาก 3 เชื้อชาติในประเทศสิงคโปร์ คือ เชื้อชาติจีน อินเดีย และมาเลย์ จากงานวิจัยนี้สามารถสรุปได้ว่า การคลอดตามธรรมชาติ ซึ่งใช้เวลาในการคลอดนานกว่าการคลอดแบบผ่าท้อง ทำให้มีแนวโน้มการพัฒนาการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้มากกว่าและมีไขมันในร่างกายตามเกณฑ์ปกติเมื่อทารกอายุครบ 18 เดือน แต่สำหรับทารกที่คลอดโดยการผ่าท้องซึ่งใช้เวลาในการคลอดสั้นกว่านั้น จะใช้เวลาที่ยาวนานกว่าในการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้และมีไขมันในร่างกายต่ำกว่าเมื่อทารกอายุครบ 18 เดือน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/20077-science-and-technology-news
ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา. (2558). รายงานข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากวอชิงตัน เดือนกุมภาพันธ์ 2558. ค้นข้อมูลวันที่ 8 เมษายน 2558 จาก http://ostc.thaiembdc.org/13th/?page_id=204– ( 47 Views)