นักวิจัยผู้พัฒนาแอป Safe Mate เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์ปลอดภัย
ดร.เฉลิมพล สายประเสริฐ
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนติดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อถึงหน้าเทศกาลสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ ทางรัฐบาลต้องมีมาตรการคุมเข้มเสมอในด้านวินัยการจราจร เพื่อเป้าหมายในการลดการเกิดอุบัติเหตุลงให้ได้มากที่สุด แต่สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ก็ยังสูงอยู่ ทำให้นักวิจัยจากเนคเทค สวทช. คนหนึ่งสนใจปัญหาและพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการขับขี่ปลอดภัยได้เป็นผลสำเร็จ จากผลงานเรื่อง “Safe Mate ระบบประเมินพฤติกรรมการขับขี่ด้วยโทรศัพท์ Smartphone” จนได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดี ประจำปี 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
นักวิจัยผู้พัฒนาแอป Safe Mate ที่จดหมายข่าวฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักและพูดคุยด้วยท่านนี้ ก็คือ ดร.เฉลิมพล สายประเสริฐ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการวิเคราะห์กระบวนการเชิงคำนวณ (CPA) หน่วยวิจัยสารสนเทศ การสื่อสารและการคำนวณ (ICCRU) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
ถาม : สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นขอทราบประวัติการศึกษาและการทำงานของ ดร.เฉลิมพล หน่อยค่ะ
ตอบ : ผมเรียนจบระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยดันดี (University of Dundee) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาไฟฟ้า ที่สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ครับ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีก็มาทำงานที่บริษัทดีไซน์โรงกลั่นน้ำมันที่ศรีราชาเกือบ 2 ปี จากนั้นจึงได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกที่อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาไฟฟ้าเช่นกัน จนจบและกลับมาทำงานใช้ทุนที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ใน พ.ศ. 2554 ครับ
เริ่มต้นทำงานกับห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) เป็นเวลานาน 2 ปี จากนั้นมีการตั้งแล็บใหม่ คือห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการวิเคราะห์กระบวนการเชิงคำนวณ (CPA) ในหน่วยวิจัยสารสนเทศ การสื่อสารและการคำนวณ (ICCRU) ตั้งเมื่อต้นปีงบประมาณ 2559 โดยมีการเริ่มทำแอปพลิเคชัน SafeMate มาตั้งแต่ CPA ยังมีสถานะเป็นกลุ่มวิจัย ยังไม่ได้ตั้งเป็นแล็บ
ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการวิเคราะห์กระบวนการเชิงคำนวณ (CPA) ทำงานวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมที่เกิดจากมนุษย์กระทำ อาทิ การเคลื่อนไหว การขับรถ การเกิดอุบัติเหตุ หรือพฤติกรรมการเข้าใช้ รพ.ของมนุษย์ (เช่น การวิเคราะห์การลำดับคนไข้ให้รอคิวน้อยที่สุด) หรือพฤติกรรมการเทรดหุ้น เป็นการดูข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อหารูปแบบ (Pattern) ของสิ่งๆ นั้น
ถ้าอธิบายด้วยโปรแกรม SafeMate ที่ผมทำ ก็คือ การนำข้อมูลที่ดึงได้จากเซ็นเซอร์บนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นความเร่ง ความเร็วต่างๆ เพื่อมาหา Pattern ว่าเราขับรถเป็นอย่างไร เพราะว่าข้อมูลเปล่าๆ นั้นไม่มีความหมาย สิ่งที่แล็บเราทำก็คือนำข้อมูลที่มีเยอะแยะมากมายนั้นมาตีความให้มีความหมาย และด้วยปัจจุบันนี้เรามีเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารเยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ Fitbit, Smart Watch พวกอุปกรณ์เหล่านี้สร้างข้อมูลในตัวเองได้อยู่แล้ว ซึ่งสมัยนี้เราจะฮิตคำว่า Big DATA กันใช่ไหมครับ และ Internet of Things (IoT) ข้อมูลที่ผมได้มาก็จะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เป็นอุปกรณ์หรือเซ็นเซอร์ที่มีการสร้างข้อมูลด้วยตัวของมันเอง เราก็เอาข้อมูลเหล่านี้มาตีความให้ตอบโจทย์ที่เราต้องการ เช่น ข้อมูลการขับรถที่นำมาทำงานวิจัย SafeMate ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันช่วยตรวจสอบการขับขี่ เพื่อเตือนภัยเมื่อมีการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย และบันทึกการขับขี่ที่ผ่านมาว่ามีความปลอดภัยหรืออันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้ใช้ทางมากน้อยเพียงใด เพียงเปิดแอปพลิเคชันขณะขับขี่ หรือโดยสารรถสาธารณะ แอปพลิเคชันจะประมวลผลและแจ้งสัญญาณเตือนเมื่อขับขี่ในอัตราที่เกินมาตรฐานความปลอดภัย และบันทึกข้อมูลการขับขี่ตามเส้นทางออกมาเป็นแผนที่ แจ้งผลการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัยตามจุดต่างๆ และประเมินคะแนนการขับขี่ให้ทราบเมื่อจบการเดินทาง พร้อมคำแนะนำปรับปรุงการขับขี่
ถาม : แรงบันดาลใจที่ผลักดันให้ทำ SafeMate คืออะไร
ตอบ : แนวคิดการทำวิจัย SafeMate เกิดขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ที่มีอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะถูกชนตกจากโทลเวย์ มีบุคลากรที่มีความสำคัญเสียชีวิตหลายท่าน จึงคิดว่าผู้ขับรถหรือผู้โดยสารรถจะมีอุปกรณ์อะไรไหมที่จะช่วยให้การขับรถปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเมื่อเราขับรถปลอดภัย แปลว่าเพื่อนร่วมท้องถนนก็จะปลอดภัยมากขึ้นด้วย ตอนนั้นสมาร์ตโฟนเริ่มมีการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงได้เชื่อมโยงเอาสมาร์ตโฟนมาเป็นตัวช่วย เน้นอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย มีใช้อยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเงินซื้อใหม่ ซึ่งสมาร์ตโฟนมีเซ็นเซอร์มากมายที่พร้อมในการนำมาประยุกต์ใช้ ตอบโจทย์การใช้งานของมนุษย์ เช่น GPS ระบุตำแหน่ง ความเร็ว ระยะทางที่เดินทาง ทำให้เมื่อเราเอาสมาร์ตโฟนไปวางไว้ในรถคันหนึ่ง เราจะสามารถติดตามรถคันนี้ได้ ว่ารถคันนี้ไปวิ่งที่ไหนมา วิ่งด้วยความเร็วเท่าไร ระยะทางกี่กิโลเมตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของ SafeMate
ถาม : จุดเด่นของ SafeMate มีอะไรบ้าง
ตอบ : จุดเด่นของ SafeMate คือ เป็นอุปกรณ์และระบบที่ช่วยประเมินการขับรถได้แบบ Real Time คือทุกสิ่งทุกอย่างทำบนโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆ หรือติดตั้งอะไรเพิ่มเติม สิ่งที่แอปพลิเคชันนี้สามารถทำได้ก็คือ คอยตรวจสอบเหตุการณ์ในการขับรถ เช่น การเบรก การเร่ง การเลี้ยวซ้าย การเลี้ยวขวา การเปลี่ยนเลน การกลับรถ เพราะฉะนั้นการเดินทางใน 1 ทริป จะประกอบด้วยเหตุการณ์เหล่านี้ ผมจึงดึงข้อมูลเหล่านี้มาอธิบายเป็นเหตุการณ์ในการขับรถ และวัดระดับความปลอดภัยในการขับรถ ด้วยการกำหนดเกณฑ์ความปลอดภัย โดยมีการวิจัยจากการนำข้อมูลมาตรฐานการขับขี่ที่ปลอดภัยมาเป็นข้อมูลอ้างอิง และจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำการขับขี่ในรูปแบบที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย และเก็บข้อมูลในฐานข้อมูล
ในการใช้งานขณะขับรถ ถ้าเกิดการเบรกกะทันหัน จะมีการแจ้งเตือนให้คนขับรถมีสติมากขึ้น มีเสียงดังบี๊บ 1 บี๊บ แอปจะทำการปักหมุดในแผนที่และขึ้น icon เบรกกะทันหันที่จุดปักหมุด เพื่อให้เราทราบข้อมูลหลังจากจบการขับรถแล้ว สามารถกลับมาทบทวนดูได้ว่าเส้นทางที่ขับมานั้น ณ จุดไหนที่ต้องระวัง และควรปรับปรุง รวมทั้งมีการคิดคะแนนให้ว่าการขับรถของเราเป็นอย่างไร โดยแบ่งเป็นเกรด A-F ถ้ามีเหตุอันตรายบ่อย คะแนนจะลดลง และมีคำแนะนำด้วยว่ามีการกระทำใดบ่อย และควรป้องกันอันตรายอย่างไร เช่น มีการเบรกกะทันหันบ่อยๆ ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น หรือเลี้ยวแรงเกินไป ควรลดความเร็วเมื่อเข้าโค้ง ฯลฯ
ถาม : การนำ SafeMate ไปใช้จริง และผลตอบรับเป็นอย่างไร
ตอบ : ตอนนี้มีการนำ SafeMate ไปใช้จริงแล้ว โดยเราแบ่ง SafeMate เป็น 2 เวอร์ชั่น ซึ่งเวอร์ชั่นแรก เรียกว่า Personal เวอร์ชั่น คือเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบ iOS หรือแอนดรอยด์ เพื่อใช้งานได้ส่วนบุคคล คือสามารถดูพฤติกรรมได้แค่ของเราเพียงคนเดียวเท่านั้น ขณะนี้มียอดดาวน์โหลดทั้งจาก iOS และแอนดรอยด์แล้วกว่า 53,000 ครั้งจากทั่วโลก มีการใช้งานทั้งจาก อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา เรียกได้ว่าแทบทุกทวีป และอีกตัวหนึ่งคือ SafeMate ระดับองค์กร หรือ Enterprise เวอร์ชั่น เป็นการใช้งาน SafeMate เพื่อมอนิเตอร์พฤติกรรมของคนขับรถในองค์กร ซึ่งสามารถใช้งานได้ไม่จำกัดจำนวนคน มีบริษัทเอกชน คือ สินมั่นคงประกันภัย ได้ทำสัญญาขออนุญาตใช้สิทธิ์ ไปใช้ในธุรกิจประกันภัย โดยนำ SafeMate ไปประเมินพฤติกรรมการขับขี่ของลูกค้าที่ซื้อประกันกับบริษัท เพื่อทำโปรโมชั่นให้กับลูกค้าที่มีพฤติกรรมการขับขี่ดี เป็นต้น
ถาม : รู้สึกอย่างไรกับรางวัลที่ได้รับ
ตอบ : จากการที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดี ประจำปี 2559 ก็รู้สึกภูมิใจครับที่ได้รับการตอบรับจากวงการวิจัยวิชาการ ว่าเค้าเห็นความสำคัญของผลงานที่เราได้ทุ่มเทและทำงานไปร่วมสองสามปี ทางคณะกรรมการเห็นว่ามีผลกระทบต่อสังคมและประเทศไทย เห็นความสำคัญว่าอุบัติเหตุและความสูญเสียจากอุบัติเหตุเป็นปัญหาระดับชาติ เมื่อผลงานของเราได้รับการยอมรับในวงวิชาการ และได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง ก็จะทำให้คนที่ได้สัมผัสทราบว่าทางเนคเทคมีการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ปลอดภัย มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งนำไปใช้ได้จริง
ถาม : ดร.เฉลิมพล ทำงานอดิเรกอะไร และมีวิธีจัดการความเครียดอย่างไร
ตอบ : ส่วนตัวผมชอบออกกำลังกายและผ่อนคลาย คิดว่าทำงานหนักแล้วก็ต้องบาลานซ์จากการทำงาน ควรมีการผ่อนคลาย ควรให้ร่างกายได้บริหารส่วนอื่นๆ ด้วยไม่ใช่ใช้สมองแต่เพียงอย่างเดียว ผมชอบไปวิ่ง วิ่งระยะไกล 10 กิโลเมตร 21 กิโลเมตร ไปตาม event ต่างๆ และไปฟิตเนส เล่นแบดมินตัน ถ้าไม่เล่นกีฬาก็จะชอบทำอาหาร เพราะตอนเรียนที่เมืองนอกต้องทำอาหารทานเอง อาหารที่โน่นราคาแพง หากินยาก จึงสนุกกับการซื้อวัตถุดิบมาทำกินเองครับ
ถาม : คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง แนวคิดที่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จคืออะไร
ตอบ : จากที่ทำงานมาในระยะเวลา 5 ปี คิดว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่สามารถทำผลงานวิจัยให้สำเร็จ เป็นที่รู้จัก และมีการนำไปใช้จริง ปกติ ผมเป็นคนเบื่อง่าย จะไม่ทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ นานๆ การได้ทำสิ่งใหม่ๆ ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากทักษะเดิมที่เรายังไม่มี ทำให้เราทำอะไรเป็นมากขึ้น มันก็เลยทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้บางทีเราได้ทำสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเคยทำ หรือยังไม่มีงานวิจัยใดๆ หรือยังไม่มีผลิตภัณฑ์ในตลาด ทำให้เรามีช่องทางหรือโอกาสที่จะถูกนำไปใช้และเผยแพร่
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับผมก็คือ “เพื่อนร่วมงาน” คิดว่าเราควรสร้างสัมพันธไมตรีในการทำงาน ผมมองว่าตัวงานสำคัญระดับหนึ่ง แต่ว่าเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในทีมเดียวกันสำคัญมากที่สุด ถ้าเรารู้สึกไม่มีความสุขเราก็ไม่สามารถทำงานได้ ก็เลยคิดว่าเราควรสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อที่จะทำงานได้อย่างมีความสุข
วันนี้ของ ดร.เฉลิมพล แม้จะประสบความสำเร็จจากงานที่ทำแล้วระดับหนึ่ง แต่การเรียนรู้เพื่อทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองและสร้างผลงานใหม่ๆ ยังคงมีอยู่เสมอจากนักวิจัยหนุ่มคนนี้