หน้าแรก 30th Anniversary Story of NSTDA: 30 ปี สวทช. ผนึกกำลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย” สู่เวทีโลก
30th Anniversary Story of NSTDA: 30 ปี สวทช. ผนึกกำลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย” สู่เวทีโลก
25 มี.ค. 2564
0
ข่าว
บทความ

 

ประเทศไทยมีศักยภาพเป็น “ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในเอเชียแปซิฟิก” เนื่องจากความได้เปรียบของสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่เอื้อต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย ปลูกได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีแรงงานเกษตรกรมีฝีมือ การคมมนาคมสะดวก ทว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 5% เท่านั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือกับกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และเกษตรกร เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในรูปแบบจตุภาคีตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ประสบความสำเร็จสร้างการเติบโตแก่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยอย่างก้าวกระโดด

 

 

สร้าง “เมล็ดพันธุ์แบรนด์ไทย” เพิ่มส่งออก 10% ต่อปี

อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญ เพราะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีแห่งหนึ่งของโลก แต่ที่ผ่านมาการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทยยังเป็นเพียงการรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วยการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มาบรรจุซองขาย ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ยังค่อนข้างน้อย โดยในปี 2548 ประเทศไทยมีส่งออกเมล็ดพันธุ์มูลค่า 1,500 ล้านบาท เท่านั้น

สวทช. เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธ์ุ จึงได้จัดตั้งโปรแกรมวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมมุ่งเป้าภายใต้คลัสเตอร์อาหารและการเกษตร เพื่อเดินหน้ายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมุ่งทำงานร่วมกับกลุ่มคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา 15 หน่วยงาน และภาคเอกชน 60 บริษัท ตั้งเป้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ระยะที่หนึ่ง ยกระดับมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ 3,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2553 โดยเพิ่มบทบาทการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ของไทย พร้อมกับมีเครื่องหมายการค้า (Brand Name) ของประเทศ และเชื่อมโยงกลไกการตลาด ส่งผลให้ในปี 2553 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็น 3,101 ล้านบาท ได้สำเร็จ หรือมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นปีละ 10% ช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มีอาชีพ สามารถสร้างรายจากการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ก้าวพ้นความยากจนสู่ความมั่นคงทางรายได้

 

ส่งเสริม วทน. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

ความสำเร็จของตัวเลขมูลค่าการส่งออกของเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นความหวังและพลังที่นำไปสู่การตั้งเป้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ระยะที่สอง นั่นคือเพิ่มมูลค่าการส่งออกเป็น 5,000 ล้านบาท ในปี 2559 โดยมีกลยุทธ์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย เร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านเมล็ดพันธุ์จาก 30% เป็น 70% พร้อมทั้งสนับสนุนการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ปรับปรุงพันธุ์พืช อาทิ การจัดการและประเมินเชื้อพันธุกรรมพืช การปรับปรุงพันธ์ุพืชให้มีลักษณะตามต้องการ เช่น ความต้านทานต่อโรคและแมลง การทนต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทนแล้ง ทนน้ำท่วม การเพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงพันธุ์ เช่น การพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดเลือกพันธ์ุได้แม่นยำขึ้น ร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและรวดเร็ว การพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ (Seed​ Technology)เช่น การเคลือบเมล็ดเพื่อป้องกันความสูญเสียอันเนื่องจากโรคและแมลง ปัจจัยเกื้อหนุนเหล่านี้ส่งผลให้ในปี 2559 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็น 5,551 ล้านบาท ได้สำเร็จ

ปักธงส่งออก 10,000 ลบ. ขึ้นแท่นศูนย์กลางการผลิตและการค้าเมล็ดพันธุ์ของภูมิภาค

ปัจจุบัน สวทช. จับมือหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ระยะที่สาม เพิ่มการส่งออกเป็น 10,000 ล้านบาท ในปี 2565 มุ่งบูรณาการการทำงานขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงด้านกฎหมายและกฎระเบียบ การส่งเสริมการผลิตและการค้า การสร้างและพัฒนานักปรับปรุงพันธุ์ รวมถึงการจัดตั้งหน่วยเก็บรักษาและประเมินเชื้อพันธุกรรมระดับชาติ ที่สำคัญยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รวมถึงสมาคมเมล็ดพันธุ์เอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายในการส่งออกของไทย ในการร่วมทดสอบพันธุ์ การจับคู่ทางธุรกิจ และการพัฒนาคน

ทั้งนี้ ในปี 2563 ประเทศไทยสามารถส่งออกเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็น 7,300 ล้านบาท ซึ่งลดลงเพียงเล็กน้อยจากปี 2562 ที่มีมูลค่าการส่งออก 7,700 ล้านบาท สะท้อนว่าแม้ทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกเมล็ดพันธุ์และมีโอกาสขยายตัวอย่างมาก อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับที่ 9 ของตลาดโลก และอันดับที่ 3 ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ที่มากขึ้นนี้ ยังส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมพริก มีมูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านบาท และการส่งออกของพริกเครื่องแกงยังตลาดต่างประเทศมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยา

 

 

ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันผลักดันตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สอดคล้องกับการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระของชาติ ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันแบบจตุภาคี มีการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าทรัพยากรซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ยกระดับให้ไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์อันดับ 1 ของเอเชียแปซิฟิกในอนาคต ที่สำคัญยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาส สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรกว่า 30,000 ครัวเรือน มีรายได้ครอบครัวละ 120,000 บาทต่อปี มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตด้านการเกษตร ก่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขในชุมชนของตนเองอย่างยั่งยืน

//////////////

 

ผู้เรียบเรียง: นางสาววัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

ผลิตสื่อวิดีทัศน์: ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.

กราฟิก: นายกุลพงษ์ อ้นมณี ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

อำนวยการผลิต: นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช., ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.​

แชร์หน้านี้: